20 ต.ค. 2561

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม)

หลักสูตรปฐมวัย
การจัดทำหลักสูตรระดับปฐมวัย โรงเรียนได้ใช้หลักสูตรการจัดการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาหลักสูตร ในระดับชั้นเด็กเล็ก โดยมีโครงสร้างของหลักสูตร ดังนี้
        ๏ การบูรณาการรายวิชาต่างๆ
  
๏ ทักษะภาษาต่างประเทศ
  
๏ รายวิชาเพิ่มเติม
  
๏ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
  
๏ ทักษะขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน

โครงสร้างหลักสูตรปฐมวัย
การจัดทำหลักสูตรปฐมวัย โรงเรียนใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาหลักสูตร ใช้การจัด
                 
การเรียนการสอนในชั้นเด็กเล็กโดยมีโครงสร้างหลักสูตร ดังนี้




1. การบูรณาการวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สุขศึกษา และพลศึกษาเป็นการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียน เรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง โรงเรียน บ้าน ชุมชน วันสำคัญของชาติไทย สิ่งแวดล้อมรอบตัว ปรากฎการณ์ธรรมชาติ พืช สัตว์ การสื่อสาร และการคมนาคม




2. ทักษะภาษาต่างประเทศ  เป็นการเตรียมความพร้อมโดยฝึกทักษะพื้นฐานด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนภาษาอังกฤษ



3. รายวิชาเพิ่มเติม เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะพื้นฐานทางด้านทัศนะศิลป์ นาฏศิลป์





4. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นนการจัดกิจกรรมรักษ์โลกเพื่อให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงภาวะโลกร้อน และเรียนรู้กระบวนการ Reduce Reuse Recycle และกิจกรรม 5 ความหมายกิจกรรม 5
    กิจกรรม 5ส เป็นกระบวนการหนึ่งที่เป็นระบบมีแนวปฏิบัติ ที่เหมาะสมสามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงแก้ไขงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงานให้ดีขึ้น ทั้งในส่วนงานด้านการผลิต และด้านการบริการ ซึ่งนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร ได้อีกทางหนึ่ง

5 ส มาจากคำย่อ "5 S" ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกในภาษาญี่ปุ่น 5 คำ ได้แก่
      1. Seiri (
เซริ) = สะสาง (ทำให้เป็นระเบียบ) คือ การแยกระหว่างของที่จำเป็นต้องใช ้กับของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ขจัดของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทิ้งไป
      2. Seiton (
เซตง) = สะดวก (วางของในที่ที่ควรอยู่) คือ การจัดวางของที่จำเป็นต้องใช้ให้เป็นระเบียบสามารถหยิบใช้งานได้ทันที
      3. Seiso (
เซโซ) = สะอาด (ทำความสะอาด) คือการปัดกวาดเช็ดถูสถานที่ สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ให้สะอาดอยู่เสมอ
      4. Seiketsu (
เซเคทซึ) = สุขลักษณะ (รักษาความสะอาด) คือ การรักษาและปฏิบัติ 3 ส ได้แก่ สะสาง สะดวก และสะอาดให้ดีตลอดไป
      5. Shitsuke (
ซึทซึเคะ) = สร้างนิสัย (ฝึกให้เป็นนิสัย) คือ การรักษาและปฏิบัติ 4 ส หรือสิ่งที่กำหนดไว้แล้วอย่างถูกต้องจนติดเป็นนิสัย





5. ทักษะขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการแต่งกาย การรับประทานอาหาร การนอนพักผ่อน และสุขอนามัย


ทักษะการเรียนรู้แห่งตวรรษที่ 21

ทักษะการเรียนรู้แห่งตวรรษที่ 21
     ในการเตรียมนักเรียนให้พร้อมกับชีวิตในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องสำคัญของกระแส การปรับเปลี่ยนทางสังคมที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีพของสังคมอย่างทั่วถึง ครูจึงต้องมีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการจัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมความ พร้อมให้นักเรียนมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 โดยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill) ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กในศตวรรษที่ 21 นี้ มีความรู้ ความสามารถ และทักษะจำเป็น ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ
     ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) วิจารณ์ พานิช (2555: 16-21) ได้กล่าวถึงทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ดังนี้
สาระวิชาก็มีความสำคัญ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ ปัจจุบันการเรียนรู้สาระวิชา (content หรือ subject matter) ควรเป็นการเรียนจากการค้นคว้าเองของศิษย์ โดยครูช่วยแนะนำ และช่วยออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนสามารถประเมินความก้าวหน้า ของการเรียนรู้ของตนเองได้
     สาระวิชาหลัก (Core Subjects) ประกอบด้วย
   ภาษาแม่ และภาษาสำคัญของโลก
   ศิลปะ
   คณิตศาสตร์
   การปกครองและหน้าที่พลเมือง
   เศรษฐศาสตร์
   วิทยาศาสตร์
   ภูมิศาสตร์
   ประวัติศาสตร์

      โดยวิชาแกนหลักนี้จะนำมาสู่การกำหนดเป็นกรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์สำคัญต่อ การจัดการเรียนรู้ในเนื้อหาเชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary) หรือหัวข้อสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยการส่งเสริมความเข้าใจในเนื้อหาวิชาแกนหลัก และสอดแทรกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เข้าไปในทุกวิชาแกนหลัก ดังนี้
     
     ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
   ความรู้เกี่ยวกับโลก (Global Awareness)
   ความรู้เกี่ยวกับการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ (Financial, Economics, Business and Entrepreneurial Literacy)
   ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี (Civic Literacy)
   ความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)
   ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy)


     ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม จะเป็นตัวกำหนดความพร้อมของนักเรียนเข้าสู่โลกการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่
      ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม
      การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา
      การสื่อสารและการร่วมมือ


     ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อและเทคโนโลยีมาก มาย ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการแสดงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและ ปฏิบัติงานได้หลากหลาย โดยอาศัยความรู้ในหลายด้าน ดังนี้
     ความรู้ด้านสารสนเทศ
     ความรู้เกี่ยวกับสื่อ
     ความรู้ด้านเทคโนโลยี


     ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ ในการดำรงชีวิตและทำงานในยุคปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จ นักเรียนจะต้องพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญดังต่อไปนี้
     ความยืดหยุ่นและการปรับตัว
     การริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง


ทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม
     การเป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิต (Productivity) และความรับผิดชอบเชื่อถือได้ (Accountability)
     ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Responsibility)


ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การเรียนรู้ 3R x 7C
     3R คือ Reading (อ่านออก), (W)Riting (เขียนได้), และ (A)Rithemetics (คิดเลขเป็น)
     7C ได้แก่
            Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา)
            Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)
            Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
            Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ)
            Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ)
            Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
            Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)

     แนวคิดทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และกรอบแนวคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้ โดยร่วมกันสร้างรูปแบบและแนวปฏิบัติในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของการจัดการ เรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นที่องค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญและสมรรถนะที่เกิดกับตัวผู้เรียน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะอ้างถึงรูปแบบ (Model) ที่พัฒนามาจากเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษ ที่ 21 (Partnership For 21st Century Skills) (www.p21.org ) ที่มีชื่อย่อว่า เครือข่าย P21 ซึ่งได้พัฒนากรอบแนวคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะเฉพาะด้าน ความชำนาญการและความรู้เท่าทันด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อความสำเร็จของผู้เรียนทั้งด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต

                                       
ภาพ กรอบแนวคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

       กรอบแนวคิดเชิงมโนทัศน์สำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นที่ยอมรับในการสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Model of 21st Century Outcomes and Support Systems) ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเนื่องด้วยเป็นกรอบแนวคิดที่เน้นผลลัพธ์ที่ เกิดกับผู้เรียน (Student Outcomes) ทั้งในด้านความรู้สาระวิชาหลัก (Core Subjects) และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยผู้เรียนได้เตรียมความพร้อมในหลากหลายด้าน รวมทั้งระบบสนับสนุนการเรียนรู้ ได้แก่มาตรฐานและการประเมิน หลักสูตรและการเยนการสอน การพัฒนาครู สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนในศตวรรษที่ 21
การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ต้องก้าวข้าม “สาระวิชา” ไปสู่การเรียนรู้ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Century Skills) ซึ่งครูจะเป็นผู้สอนไม่ได้ แต่ต้องให้นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูจะออกแบบการเรียนรู้ ฝึกฝนให้ตนเองเป็นโค้ช (Coach) และอำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการเรียนรู้แบบ PBL (Problem-Based Learning) ของนักเรียน ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวช่วยของครูในการจัดการเรียนรู้คือ ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Communities : PLC) เกิดจากการรวมตัวกันของครูเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำหน้าที่ของครูแต่ ละคนนั่นเอง


       ดังนั้นทักษะของคนต้องเตรียมคนออกไปเป็น knowledge worker โดยครูเพื่อศิษย์นั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยสิ้นเชิงเพื่อให้เป็น “ครูเพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21” ไม่ใช่ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 20 หรือศตวรรษที่ 19 ที่เตรียมคนออกไปทำงานในสายพานการผลิตในยุคอุตสาหกรรม การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องเตรียมคนออกไปเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ (knowledge worker) และเป็นบุคคลพร้อมเรียนรู้ (learning person) ไม่ว่าจะประกอบ สัมมาชีพใด มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นบุคคลพร้อมเรียนรู้ และเป็น คนทำงานที่ใช้ความรู้ แม้จะเป็นชาวนาหรือเกษตรกรก็ต้องเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้ และเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ ดังนั้น ทักษะสำคัญที่สุดของศตวรรษ ที่ 21 จึงเป็นทักษะของการเรียนรู้ (learning skills)
      ครูเพื่อศิษย์เองต้องเรียนรู้ 3R x 7C และต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต แม้เกษียณอายุจากการเป็นครูประจำการไปแล้ว เพราะเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิตของตนเอง ระหว่างเป็นครูประจำการก็เรียนรู้สำหรับเป็นครูเพื่อศิษย์ และเพื่อการดำรงชีวิตของตนเอง โดยย้ำว่าครูต้องเลิกเป็น “ผู้สอน” ผันตัวเองมาเป็นโค้ช หรือ facilitator ของการเรียนของศิษย์ ที่ส่วนใหญ่เรียนแบบ PBL คือโรงเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเลิกเน้นสอน หันมาเน้นเรียน เน้นทั้งการเรียนของศิษย์ และของครู


"เก่งดีมีสุข"

    "เก่ง ดี มีสุข"
    แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ ๑๐ มีเจตนารมณ์มุ่งพัฒนาชีวิตให้เป็น "มนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข" หรือกล่าวอีกอย่างคือบุคคลที่มีความ "เก่ง ดี มีสุข" ซึ่งหากนี่คือเป้าหมายหลักของภาครัฐ ที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตอย่างสมบูรณ์พร้อมทั้งทางด้านไอคิวและอีคิว ตรงตามเป้าหมายการศึกษา คือ ผู้เรียนเป็น คนดี คนเก่ง และ มีความสุข ยึดคุณธรรมนำความรู้ สู่สังคมไทยโดยสิ่งที่จะบ่งบอกว่าบุคคลใดเป็นบุคคลที่มีความเก่ง ดี และมีสุขในการศึกษา คือ
เก่ง หมายถึง ความสามารถทางพุทธิปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจที่แจ่มแจ้งสามารถนำไปใช้ได้ วิเคราะห์เป็น สังเคราะห์ได้ ประเมินได้อย่างเข้าใจ และรู้แจ้งตามศักยภาพ
ดี หมายถึง เป็นผู้มีเจตคตินิยมที่ดีทั้งต่อการเรียน ความเป็นอยู่ต่อบุคคล ต่อสังคม ชุมชน และประเทศ
มีสุข หมายถึง สนุกกับการเรียนและใคร่เรียนรู้ตลอดชีวิต
     
    ซึ่งหากจะให้ความหมาย เก่ง ดี มีสุข ในด้านการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปของผู้คนแล้วนั้นก็จะสามารให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไปได้อีก คือ
เก่ง หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาและแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ดีกับผู้อื่น
ดี หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการตนเอง รู้จักเห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม
มีสุข หมายถึง ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างมีสุข

    จากแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ ๑๐ มีเจตนารมณ์มุ่งพัฒนาชีวิตให้เป็น "มนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข" หรือกล่าวอีกอย่างคือบุคคลที่มีความ "เก่ง ดี มีสุข” ซึ่ง เก่ง ดี มีสุข ของใครหลายคนอาจจะไม่ครบ บางคนอาจจะไม่ได้อยู่ในความหมายที่กำหนดไว้
    สำหรับดิฉัน ในคำว่า “ เก่ง ” สำหรับดิฉันเอง ในความเก่งของตัวดิฉันเอง ดิฉันคิดว่าดิฉันก็เก่งในระดับหนึ่งที่สามารถเรียนในโรงเรียนที่ยอมรับและนิยม ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตั้งแต่อนุบาลถึงประถม 6 เรียนโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีชื่อในระดับหนึ่ง เข้าเรียนด้วยความสามารถของตนเองด้วยการสอบ ระดับมัธยมต้นและปลาย เรียนโรงเรียน ศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ ด้วยผลการที่ค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง และสามารถเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการด้วยการสอบแอดมิตชั่น โดยใช้คะแนนในการสมัครเรียน ได้ศึกษาใน คณะครุศาสตร์ แขนงวิชาการศึกษาปฐมวัย ซึ่งใครหลายคนฝันอยากจะเข้าแต่ไม่สามารถเข้าได้ สำหรับดิฉันสามารถเข้าเรียนได้ เพราะองค์ประกอบหลายๆอย่าง ดิฉันก็เป็นอีกหนึ่งคนที่โชคดีใน50คนที่ได้มาเรียนในแขนงวิชานี้ ซึ่งผลการเรียนปานกลางไม่น้อยเกินกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ และสามารถเรียนได้มาถึงชั้นปีที่3 ดิฉันภูมิใจในตัวเอง ถึงอาจจะไม่ได้เก่งอย่างใคร แต่ดิฉันก็ถือว่าตนเองเก่งแล้ว และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน
      สำหรับคำว่า “ ดี ” ดิฉันคิดว่าตนเองดีพอ และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนหรือเป็นปัญหา ในคำว่าดีสำหรับดิฉันอาจจะไม่ได้ถึงขั้นดีเลิศ แต่ที่เป็นอยู่ ปฎิบัติอยู่โดยไม่เป็นภาระ หรือไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนสังคม ดิฉันได้ช่วยเหลือ เป็นคนดีของสังคมโดยการ ทำจิตสาธารณะ และช่วยผู้อื่นตามกำลังและความสามารถของตนเอง เช่นการไปค่ายสังขละบุรี ที่ได้ไปเป็นจิตอาสา ช่วยน้องๆที่ด้อยโอกาส การไปทำความสะอาดวัดต่างๆ การไปจัดกิจกรรมให้กับโรงเรียนโดยอาสาไปจัดกิจกรรม ซึ่งสิ่งที่ทำอาจจะยังไม่มากพอสำหรับสังคม แต่ดิฉันจะทำไปเรื่อยๆเมื่อมีโอกาสและจะทำให้เต็มที่ สุดความสามารถ
    คำสุดท้าย คำว่า “ มีสุข ” ดิฉัน มีความสุขในทุกๆกิจกรรมที่ทำ อาจจะไม่ได้มีความสุขมากมาย แต่ความสุขก็เกิดขึ้นได้ทุกๆที่เพียงแค่เปิดใจ และคิดบวก ทุกอย่างก็คือความสุขได้หมดในความคิดของดิฉัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตการเรียน การทำงาน ทุกสถานการณ์มีความสุขได้ เล็กๆน้อยๆ ก็ไม่เป็นไร ขอแค่วันหนึ่งในทุกๆกิจกรรม มีรอยยิ้มก็พอแล้ว เท่านี้ก็มีความสุขกับชีวิต

18 ต.ค. 2561

นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ศตวรรษที่ 21

นายแพทย์วิจารย์ สตวรรษที่ 21
    วิจารณ์ พานิช: ต้อง ‘เรียนรู้’ แบบไหน และ อีกแค่ไหน จึง ‘เปลี่ยนแปลง’
   -ไม่ใช่แค่พ่อแม่และครูที่ ‘อิน’ กับการศึกษา แต่รวมหมดตั้งแต่ลุงป้าน้าอาและคนที่ไม่มีลูก ทั้งหมดนี้สะท้อนอะไร หรือการศึกษาไทยถึงทางตัน?
   -‘Transformative Learning’ หรือ ‘การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง’ เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนการเรียนรู้ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างครูในฐานะ ‘คุณอำนวย’ (facilitator) กับผู้รับ และวิธีการเรียนที่ไม่ใช่ถ่ายโอนความรู้เป็นก้อนๆ แต่ต้องมาจากการลงมือทำ ประสบการณ์จริง และได้ใคร่ครวญคิดไตร่ตรอง
   -ยาแก้อาการเรียนแบบสั่งสอน เม็ดที่หนึ่งคือการคืน ‘ศักดิ์ศรีครู’
   
     The Potential ไม่ใช่พื้นที่งานสื่อสารเดียวที่ทำงานด้านการศึกษา นอกจากสื่อมวลชนหลายสำนัก คนในอาชีพอื่นทั้ง พ่อแม่ ครูอาจารย์ ลุงป้าน้าอา คนในชุมชน เพื่อนข้างบ้าน ส่วนเสี้ยวใดหนึ่ง ล้วนเป็นหนึ่งในนักการศึกษาแทบทั้งสิ้น
     อ้างอิงเฉพาะฟีดแบ็คที่ได้รับตลอดมาตั้งแต่เปิดเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม2561 แทบทุกบทความที่โยนสู่พื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่แค่ได้เสียงตอบรับที่ดี แต่เราได้คำถาม บทสนทนา การชวนคุย แลกเปลี่ยนความทุกข์สุขร่วมอันเกิดจาก ‘ระบบการศึกษา’
     ทำไมคนจึง ‘อิน’ กับประเด็นการศึกษามากขนาดนี้ และไม่ใช่แค่พ่อแม่ ครู และนักเรียน แต่กับคนที่ไม่มีลูก ก็ยังร่วมแสดงความเห็นอย่างน่าสนใจที่มาจากประสบการณ์ร่วม
ประเด็นสำคัญคือ ทุกคนอยากหา ‘ทางออก’
     เครื่องมือการศึกษาหนึ่งในชื่อ ‘Transformative Learning’ หรือ ‘การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง’ คือ เครื่องมือการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึก, ประสบการณ์, ตัวตนข้างในของผู้เรียน ผ่านเครื่องมือสำคัญคือ ‘reflection’ การคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง ทั้งที่มาจากการครุ่นคิดภายในตัวเอง และการถูกกระตุ้นให้คิดโดยคนรอบข้าง พ่อแม่ ครู เพื่อน ลุงป้าน้าอา ด้วย ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’และ ‘การตั้งคำถาม’ ที่ช่วยตรวจทานความรู้สึกข้างใน


     The Potential ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช รอง ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21,สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
    โดยเฉพาะเล่ม ‘การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง: Transformative Learning’ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ตีความจากหนังสือ ‘Transformative Learning in Practice: Insights from Community, Workplace and Higher Education’ โดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor และคณะ
     เพื่อต้องการหาความหมาย อะไรจะเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ใหม่และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่าง แท้จริง ศ.นพ.วิจารณ์ เริ่มต้นโดยให้ความรู้และอธิบายความหมายของทฤษฎีนี้ พร้อมชี้แนะด้วยประสบการณ์ว่าการศึกษาไทยควรเปลี่ยนแปลงในลักษณะไหน ทำอย่างไรให้องค์ความรู้นี้ถูกผลักสู่การเรียนในห้องได้จริงๆ
      ประเด็นการศึกษาขณะนี้ ไม่ใช่แค่นักการศึกษา แต่พ่อแม่ทุกวันนี้ตื่นตัวกับประเด็นการศึกษามาก กล่าวได้หรือไม่ว่าเป็นความอึดอัดคับข้องร่วม ที่ทุกคนเห็นว่ารอต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ต้องเร่งแก้ไข
      ตามความเข้าใจของผม ระบบการศึกษาโลกยึดแนวทางที่เรียกว่าการถ่ายทอดความรู้ สิ่งที่เรียกว่าความรู้นั้นเป็นก้อนๆ อยู่ในตำรา อยู่ในผู้รู้ หลังๆ อยู่ในอินเทอร์เน็ต ฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นการเอาความรู้ส่วนนั้นถ่ายไปใส่ตัวบุคคล เด็กก็รับความรู้มาเป็นก้อนๆ ใส่เข้าไว้ในสมองตัวเอง
      ความรู้บางเรื่องเป็นทักษะที่ต้องฝึก เช่น การขี่จักรยาน อย่างพวกผมเรียนหมอ ความรู้หลายอย่างเป็นทักษะ เช่น จะไปตรวจโรค ต้องฝึกคลำ คลำตับยังไง คลำม้ามยังไง ฟังเสียงหัวใจยังไง ฟังเสียงปอดยังไง พวกนี้เป็นทักษะจึงต้องฝึก แต่ความรู้หลายเรื่องเป็นเรื่องทางจิตใจ จิตวิญญาณ ต้องหาทางให้ซึมลึกเข้าไปข้างใน ทั้งหมดนี้ถือเป็นการถ่ายทอด นั่นคือวิธีคิดเก่าเรื่อยมาจนถึงประมาณยี่สิบถึงสามสิบปีให้หลังมานี้ที่ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง กระทั่งประเทศก้าวหน้า ประเทศที่มีเรตติ้งทางการศึกษาสูง เขาเปลี่ยนไปหมดแล้ว ประเทศเรานี่ยังไม่เปลี่ยน อเมริกาหรืออังกฤษก็ยังไม่ค่อยเปลี่ยน มีแต่บางโรงเรียนที่เปลี่ยน บ้านเราก็มีหลายร้อยโรงที่เปลี่ยน แต่อีกกว่าสามหมื่นโรงนี้ไม่เปลี่ยน รวมทั้งการบริหารงานของกระทรวงศึกษาก็ยังไม่เปลี่ยน

เปลี่ยนอย่างไร?
      เปลี่ยนจากคอนเซ็ปท์ “ความรู้เป็นก้อนๆ แล้วถ่ายมาให้คนเรียน” หมายความว่าความรู้นี้เป็นนามธรรม ที่อยู่ในตัวคนเรียน ก่อเกิดขึ้นภายในตัว และจึงขยายตัว เชื่อมโยง ลึกและชัดเจนขึ้นภายในตัว อันนี้เรียกว่า constructivism (การสร้างความรู้โดยผู้เรียน)
      การเรียนจึงไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้ เป็นการสร้างบรรยากาศ สร้างพื้นที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรม แล้วเกิดการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflect) ว่าความรู้คืออะไร โยงกับสิ่งที่มีคนอธิบายไว้แล้วซึ่งก็คือทฤษฎีอย่างไร
      สรุปแล้วคนเรียนเป็นผู้สร้างทฤษฎีด้วยตัวเอง แล้วค่อยเอาไปเทียบกับทฤษฎีที่มีคนคิดไว้ก่อนแล้ว แบบนั้นก็จะรู้ว่าทฤษฎีก่อนหน้านี้ไม่ดีเท่าไร อย่างน้อยๆ ก็ในบริบทที่ตัวเจอ เท่ากับว่าคนเรียนกล้าที่จะสร้างทฤษฎีขึ้นมาด้วย
การเรียนแบบเก่า มีปัญหาอย่างไร
      เปรียบเทียบกับการเรียนแบบเก่าที่เป็นเรื่องภายในของแต่ละคน เป็นวิธีคิด เป็นทฤษฎี เพราะฉะนั้นห้องเรียนต้องเงียบๆ เด็กๆ ต้องคิดอยู่กับตัวเอง ซึ่งมีทั้งถูกและผิดนะครับ แต่การเรียนสมัยใหม่ที่ว่าเปลี่ยนหรือดีกว่า คือการเรียนเป็นกลุ่ม เรียนโดยการฟังคนอื่นด้วย ฟังข้อคิดเห็นที่เราเองไม่ได้คิดเหมือนกัน คือเรียนความแตกต่าง เรียนให้รู้ว่าไปเจอประสบการณ์เรื่องหนึ่ง ทำกิจกรรมร่วมกัน เราตีความอย่างนี้ แต่เพื่อนตีความต่างกัน บางทีตรงกันข้าม บางทีคล้ายๆ กันแต่มีบางมุมที่ไม่เหมือน พอเรียนแบบนี้เข้า เด็กหรือผู้เรียนรวมทั้งเราด้วย ก็จะเข้าใจว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ใช่วิธีเดียว มันมีหลายมิติ มิติความลึก มิติความเชื่อมโยง


     
          สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความรู้ความเข้าใจแล้ว แต่คือความเคารพคนอื่น ฟังคนอื่นเป็น อันนี้เป็นการเรียนอีกอย่างซึ่งไม่เกิดขึ้นในห้องเรียนเงียบๆ และฟังครูสอน แต่คือคอนเซ็ปท์ที่เรียกว่า 21st century skills (ทักษะในศตวรรษที่ 21) ซึ่งมีทักษะหลากหลาย ทักษะที่หลากหลายนี้สอนไม่ได้ แต่สร้างพื้นที่ สร้างกิจกรรมให้เด็กได้ทำแล้วก็เรียนรู้ได้ด้วยตัวอย่างที่ว่าไป การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ฟังเพื่อนเป็น แต่โดยธรรมชาติ ถ้าไม่ระวัง เราจะฟังแต่สิ่งที่เราอยากฟัง เพราะมันตรงใจเรา อันไหนไม่ตรงใจเราจะไม่ได้ยิน ไม่ได้แกล้งด้วย แต่ไม่ได้ยินจริงๆ
          แต่การเรียนสมัยใหม่ทำให้คนใจกว้าง เพราะถ้าเรียนแบบ ‘รับ’ และ ‘ถ่ายทอดความรู้’ เราจะใจแคบ แต่เมื่อไรที่ได้เรียนแบบสมัยใหม่ เรียนด้วยหลักปฏิบัติ ได้คุยไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกัน ด้วยการฟังคนอื่นด้วย เราจะได้ความรู้มิติอื่นๆ
         ไม่ใช่แค่นักการศึกษา แต่พ่อแม่ทุกวันนี้ตื่นตัวกับประเด็นการศึกษามาก?
อย่างที่บอกไป เราถูกกำกับโดยประสบการณ์ตรงของเราให้เชื่อว่าการศึกษาคือการรับและถ่ายทอด ความรู้ ฉะนั้น ทุกคนในบ้านเมืองสมัยนี้ต้องเข้าใจว่า คอนเซ็ปท์เรื่องการศึกษาได้เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าการถ่ายทอดความรู้เป็นสิ่งที่ไม่พึงทำนะ เพียงแต่มันไม่พอและมีจุดอ่อนในตัวเอง มันไม่ได้ขีดความสามารถ (competency) อย่างที่คนสมัยใหม่ต้องการ competency ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการอยู่กับการเปลี่ยนแปลง อยู่กับสิ่งที่ไม่ชัดเจน อยู่กับสิ่งที่มองได้หลายมุม
สมัยผมเด็กๆ อยู่บ้านนอก ในใจเราคิดว่ารอบตัวเรา กี่ปีกี่ชาติก็ยังแบบนี้ หลังบ้านคือท้องนา เลยไปหน่อยคือคลอง ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ปี 2500 เราก็คิดว่ากรุงเทพฯ มีเท่านี้ ข้างถนนเป็นคลองคูน้ำเน่า เราคิดว่ามันจะอยู่แบบนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์ ไม่เคยคิดเลยว่ากรุงเทพฯ จะเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ เห็นมั้ย? โลกมันเปลี่ยนแปลง การศึกษาสมัยเก่าเป็นการศึกษาเพื่อโลกที่ไม่เปลี่ยนแปลง นี่คือหลัก


       ปัจจัยอะไรที่ทำให้เด็กกล้ายกมือถาม ยินยอมรับฟังความเห็นต่างจากเพื่อนในห้อง
ต้องกังวลฝั่งครู เพราะครูโตมากับวิธีเรียนแบบเดิม ที่ร้ายคือว่า ครูของครู ฝึกเขามาแบบนี้ จริงๆ แล้วในประเทศที่การศึกษาดี โรงเรียนฝึกหัดครูเขาเปลี่ยนหลักสูตรเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
ขณะนี้สกิลครูไม่ใช่ didactic หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ แต่เป็น dialogic สานเสวนา หัวใจสำคัญที่สุดในทักษะครู คือมองให้ทะลุเข้าไปในหัวเด็ก นี่คือทักษะที่สำคัญ พ่อแม่ด้วย
ทีนี้จะมองทะลุเข้าไปในหัวของเด็ก จริงๆ ไม่ใช่การมอง แต่คือเข้าใจ จะเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในหัวเด็ก ก็ต้องคุยกับเขา ต้องฟัง ต้องถามในภาษาของเขา และต้องเลิกเชื่อทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ (ฌอง เพียเจต์ นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์) ที่บอกว่าเด็กคิดไม่เป็น ไม่มี abstractionหรือคิดเป็นนามธรรมไม่ได้ เด็กไม่เข้าใจเรื่องคุณธรรมจริยธรรม แต่เพราะเพียเจต์ยิ่งใหญ่มาก คนเลยเชื่อถือทฤษฎีของเขาอยู่ถึงทุกวันนี้ แนวคิดของเขาหลายเรื่องใช้ได้ แต่ต้องให้รู้ว่าอันนี้ใช้ไม่ได้ เป็นการผิดแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
       ส่วนพ่อแม่ ก็ต้องคุยกับลูก ฟังลูก ตั้งคำถามบางอย่างเพื่อให้เด็กตอบ แล้วเราก็ตีความว่าในสมองเขากำลังคิดอะไร เขากำลังคิดอะไร ทำความเข้าใจเรื่องอะไร แล้วก็อย่าไปบอกว่าอันนี้ผิด แต่หาทางให้เขาเจออะไรบางอย่างแล้วก็ตีความไปเรื่อยๆ นั่นคือ Transformative Learning คือการเรียนจากประสบการณ์ตรง ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างจริงจัง การไตร่ตรองจะเกิดขึ้นไม่ยากถ้ามีคนช่วยตั้งคำถาม และฟังด้วย ฟังและตั้งคำถามต่อ เด็กจะค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นแบบนี้

เริ่มอย่างไรดี
    เช่น เริ่มจากเวลาที่เด็กตีความผิด ผู้ใหญ่ตั้งคำถาม ชวนคุยไปเรื่อย หรือบางทีก็ต้องหยุดและพอผ่านกิจกรรมบางเรื่องไปแล้วค่อยย้อนกลับมาตั้งคำ ถามอีก ในที่สุดเด็กจะรู้ว่า อ๋อ… ที่เคยเข้าใจแบบนี้ ต้องเข้าใจอีกแบบ
เครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคืออะไร
     คอนเซ็ปท์ของ Transformative Learning ที่จริงแล้ว จะว่ายากก็ยาก ง่ายก็ง่าย ที่ว่าง่ายคือเป็นการเรียนจากเรื่องราวจริง ที่กระทบใจตัวเอง ที่ตัวเองเอาจริงเอาจัง ตัวเองมีความรู้สึกอึดอัดขัดข้อง ว่า “เอ…มันไม่เหมือนที่เราเจอจริงๆ ไม่เหมือนที่เราคิด” ต้องเริ่มตรงนั้น คือเริ่มจากเรื่องจริง เรื่องที่ตัวเองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหมดนั้นคือ data หรือ information ถูกเก็บไว้ นำมาใคร่ครวญ คือ critical reflection ซึ่งการใคร่ครวญนี้ ลงรายละเอียดจะมีเยอะ เพราะทำคนเดียวก็แบบหนึ่ง ทำร่วมกันเป็นกลุ่มก็แบบหนึ่ง ที่สำคัญคือต้องมีกัลยาณมิตรและทำร่วมกัน
จะเกิดการใคร่ครวญ บรรยากาศของกลุ่มก็ต้องมี เป็นพื้นที่ปลอดภัย พูดแล้วมีการรับฟัง มีการสนองตอบด้วยแววตา ด้วยคำถามบางอย่าง ทำไมทำอย่างนั้น คิดยังไงถึงทำอย่างนั้น ตั้งคำถามที่กระตุ้น แสดง appreciation เราก็จะสะท้อนออกมาได้ลึกและจริงใจ
       หลักการจะว่าง่ายก็ง่าย แต่เวลาปฏิบัติก็ไม่ง่าย แต่ถ้าทำเป็นนี่ง่ายเลย ประสบการณ์ของผมหลายๆ ครั้งพบว่า คนมีการศึกษา ทำค่อนข้างยาก เพราะมันมีตัวตน กลัวว่าพูดแบบนี้แล้วมันไม่ถูกหลักการ ไม่ฉลาด หรือไม่เข้าหูเพื่อน พวกนี้ต้องเป็นสกิลอย่างหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าสกิลเฉยๆ ไม่พอ แต่อยู่ที่การสร้างพื้นที่ปลอดภัย และมี facilitator ที่จะมาช่วยกระตุ้นและตั้งคำถาม เพราะฉะนั้น มันกลับมาสู่ว่า ห้องเรียนที่ดีต้องเป็นแบบไหน เริ่มตั้งแต่ชั้นก่อนอนุบาลเลย
        มาถึงตรงนี้ก็โยงไปสู่วิธีเรียนรู้ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครู พ่อแม่กับลูก ความรู้ไม่ได้เป็นก้อนๆ ไม่ได้ถ่ายทอดมาจากคนอื่น ตักตำรามาให้เด็ก แต่เด็กสร้างขึ้นเองจากที่เขาไปสัมผัส จากเรื่องราวที่เขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง ฉะนั้นเท่ากับว่า การศึกษาต้องเน้นให้เด็กได้สัมผัส ได้ทำ และมาคิดร่วมกัน มาสะท้อนร่วมกัน
        ครูมีหน้าที่กระตุ้น ครูเปลี่ยนหน้าที่โดยสิ้นเชิง ครูจะทำหน้าที่ได้ดี ต้องเห็นกระบวนการในหัวสมองเด็ก ว่าตอนนี้เด็กกำลังคิดอะไร คิดแบบไหน นี่คือทักษะครู ซึ่งครูปัจจุบันนี้ไม่มี ครูที่จบปริญญามานี้ไม่มีทักษะ เพราะวงการศึกษาเรายังยึดการถ่ายทอดการศึกษา มองความรู้เป็นก้อนๆ พูดแบบนี้ มันไม่ใช่ทุกส่วนเป็นแบบนี้ หลายส่วนอาจเปลี่ยนแล้ว

  คีย์เวิร์ดหนึ่งของคำว่า ‘เปลี่ยนแปลง’ คือการเปลี่ยนอย่างทั้งเนื้อทั้งตัว หรือคำว่า holistic มันคืออะไร?
อันนี้ไม่มีวันอธิบายได้ แต่จริงๆ คือการเปลี่ยน mind set วิธีคิด กรอบความคิด หรือ paradigm shift ผมเข้าใจว่าผมอาจมองไม่เหมือนคนอื่น แต่เข้าใจว่าคนเราเปลี่ยนกรอบคิดอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ ผมเองก็เติบโตได้ดิบได้ดีมาใน mind set การศึกษาแบบเดิม เป็นเด็กดี นั่งนิ่ง ครูก็ชม ไม่คุยกับเพื่อน ตาจ้องครูแป๋ว ครูก็จะไปบอกพ่อว่าเด็กคนนี้ดีจริงๆ แต่ความคิดไม่มี แต่ถ้าครูถามจะตอบได้หมด เพราะครูก็จะถามตามที่ครูสอน ความคิดแตกฉานไม่มี ไม่กล้า ไม่มีความคิดแหวกแนว เพราะเราถูกฝึกมาแบบนี้ แต่พอมาเจอหลายอย่าง เจอการอ่าน เจอเหตุการณ์อะไรหลายๆ อย่างเราก็เปลี่ยนได้ แต่ทีนี้ประเด็นคือ แบบนี้มันอาจจะได้ 1 ใน 100 หรือ 5 ใน 500 แต่สังคมเราต้องการ100 ทั้ง 100 และไม่ใช่ได้อย่างนี้เฉพาะเด็กไอคิว 50 ขึ้นเท่านั้น แต่ไอคิวเท่าไรก็ต้องเปลี่ยนได้ นั่นแปลว่ารูปแบบการเรียนรู้ ก่อนเข้าโรงเรียน โรงเรียน และสังคมต้องเปลี่ยน


        กล่าวโดยสรุปคือเปลี่ยนสองอย่าง หนึ่ง เข้าใจความรู้และการเรียนรู้ สอง ความเข้าใจบทบาทของครู วิธีแสดงบทบาทของครู จริงๆ ก็คือตัวช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ พูดง่ายๆ คือไม่ใช่การสั่งสอน การถ่ายทอดความรู้ แต่หาทางทำให้เด็กได้ exercise ความรู้หรือความคิดตลอดเวลา ให้ครูเข้าใจว่าเขากำลังคิดอะไร
        เด็กระดับนี้เข้าใจระดับนี้ไม่เป็นอะไร แต่ต่อไปภายภาคหน้าจะมีเหตุการณ์อย่างอื่นที่เข้ามากระทบ เด็กก็จะ อ๋อ… เข้าใจแล้ว เดิมเคยเข้าใจว่าแบบนี้ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าต้องเป็นอย่างนี้เอง นี่คือtransformation เล็กๆ

       ทำอย่างไร ไม่ให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงแค่ 1 ใน 100 แต่ให้การเรียนรู้แบบนี้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย นำองค์ความรู้พวกนี้เข้าห้องเรียนจริง
        อันนี้เป็นความเห็นที่คนอื่นไม่จำเป็นต้องเห็นพ้อง ถ้าพูดแรงที่สุด คือเปลี่ยนที่กระทรวงศึกษา กระทรวงศึกษาในปัจจุบันล้าสมัย ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรทำหมดเลย คือการทำงานแบบสั่งการ หรือ top down จะมีหลักสูตรมาตรฐาน ซึ่งที่จริงเขาก็บอกนะว่าหลักสูตรมาตรฐานไม่ได้มีไว้ทำตาม แต่มีไว้เป็นไกด์ เขาพูดเองนะ แต่ยังไงก็แล้วแต่ สิ่งที่ครูทำก็มักจะต้องดูหลักสูตรมาตรฐานและทำตามให้ได้สิ่งที่กระทรวงศึกษาควรทำคือ การกำหนดว่าเด็กชั้นไหน จะต้องมี ASK หรือ Attitude Skill Knowledge อย่างไรบ้าง คือกำหนดเป้าหมาย มีคำแนะนำ แต่วิธีการปฏิบัติมีได้หลากหลาย ทั้งหมดไม่ได้อยู่บนฐานของการถ่ายทอดความรู้ แต่อยู่บนฐานของ active learning เรียนโดยการปฏิบัติ และตามด้วยการ reflect และหาทางทำความเข้าใจ แค่คอยเช็คว่ามันมีการปฏิบัติแบบไหน เป็นแบบเดิมคือการถ่ายทอดความรู้ หรือที่ให้เด็กสร้างความรู้เองมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งบอกให้สังคมรู้ด้วยว่าโรงเรียนไหนบ้างที่เป็นตัวอย่างที่ดี พอเป็นอย่างนี้เข้า ภายใน 5 ปี โรงเรียนจะเปลี่ยนแต่ขณะนี้ไม่ เพราะยังเป็นการสั่งจากข้างบน ตรงตามรูปแบบตายตัว เวลาที่บอกว่าการศึกษาต้องการทดลองอันนี้ ให้ครูรับไปทำ ครูก็ไม่รู้ว่าต้องตามคำสั่งโครงการ กี่สิบโครงการ ครูก็ทิ้งเด็กหมดเลย สิ่งที่จะทดลองกับเด็ก ควรจะเป็นครูเอง ควรเป็นของครูเอง ถามว่าทางที่ควรเป็นคืออะไร? คือการ empower ครู สร้างศักดิ์ศรีครู คือสภาพปัจจุบัน เป็นสภาพที่ทางการไม่เชื่อมั่นครู จึงเอาอะไรไปสั่งเขาเยอะแยะเต็มไปหมด ประเทศที่การศึกษาดีเขาไม่ทำ เขาเชื่อมั่นครู ทีนี้อาจมีคำถามอีกว่า ก็ครูเป็นแบบเดิม จะไปเชื่อเขาได้ยังไง คำตอบคือ ก็ครูที่แข็งแรงมันมี ทำไมไม่ยกให้เขา เราแค่ดูนิดเดียวว่าลูกศิษย์คุณได้แบบนี้จริงมั้ย เรียนทันมั้ย ส่วนที่เหลือก็ต้องหาทางช่วยเขา ให้เขาเปลี่ยน
          ผมเชื่อว่าอีกห้าปีเปลี่ยนได้ มนุษย์เปลี่ยนได้ ผมเชื่ออย่างนั้น คนเป็นครู คุยกับเขาดีๆ เพราะมนุษย์เราจะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เรียกว่า empathy เห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่ในบรรยากาศบางบรรยากาศ การเลี้ยงดู การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมบางอัน บางคน บางกลุ่มจะตรงกันข้ามกับคำนี้ เราก็ต้องหาทางให้เกิด
Transformative Learning ไม่สามารถเกิดได้ภายใต้นโยบายการศึกษาแบบเดิมใช่มั้ย
         Transformative Learning เกิดขึ้นไม่ได้ในบรรยากาศที่ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยจากอำนาจทั้งหลาย กลัวผิด กลัวศึกษานิเทศก์มาแล้วจะโดนจับผิด กลัวว่าประเมินแล้วจะไม่ผ่าน พวกนี้เป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย
ถูกผิดไม่ใช่เรื่องสำคัญ สำคัญว่าคิดยังไง ที่เห็นผลออกมาจะๆ จะอธิบายได้ยังไง นั่นคือการเรียนรู้