21 ก.ย. 2561

หลักสูตรสัมพันธ์วิชา (The Correlated Curriculum)

หลักสูตรสัมพันธ์วิชา (The Correlated Curriculum)


     เป็นหลักสูตรรายวิชาที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ แรกทีเดียวการแก้ไขข้อบกพร่องทำโดยการนำเอาเทคนิคการสอนใหม่ๆ มาใช้ เช่น ให้ผู้เรียนร่วมในการวางแผนการเรียน และให้ผู้เรียนทำกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากการท่องจำ เพื่อให้ผู้เรียนรู้เนื้อหาที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อแก้ข้อบกพร่องของหลักสูตรที่เน้นเรื่องผู้สอนเป็นผู้สั่งการหรือจุดศูนย์กลางของการเรียนการสอน แต่การปรับปรุงด้านเทคนิคการสอนไม่ได้ช่วยแก้ไขข้อบกพร่องที่ว่า หลักสูตรรายวิชามีขอบเขตแคบเฉพาะวิชา และยังมีลักษณะแบ่งแยกเป็นส่วนย่อยๆ อีกด้วย
              ในระยะต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขอีกโดยจัดให้มีความเชื่อมโยงระหว่างวิชาต่างๆ ทำให้เกิดหลักสูตรสัมพันธ์วิชาขึ้น วิธีการเชื่อมโยงก็ทำทั้งในระดับความคิดและระดับโครงสร้างดังได้กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตามหลักสูตรสัมพันธ์วิชาก็คือหลักสูตรรายวิชาอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง  แต่เป็นหลักสูตรที่นำเอาเนื้อหาของวิชาต่างๆ ที่สอดคล้องหรือส่งเสริมซึ่งกันและกัน มาเชื่อมโยงกันเข้าแล้วจัดสอนเนื้อหาเหล่านั้นในคราวเดียวกัน  วิธีการนี้อาศัยหลักความคิดของแฮร์บารตที่ว่าการที่จะเรียนรู้สิ่งใดได้ดีผู้เรียนจะต้องมีความสนใจเข้าใจความหมายของสิ่งที่เรียนและมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียนและสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้นการนำเอาเนื้อหาของวิชาหนึ่งมาเชื่อมโยงกับอีกวิชาหนึ่งในการเรียนการสอน  ย่อมเป็นการส่งเสริมหลักความคิดดังกล่าวข้างต้น  ตัวอย่างเช่น การนำเอาเนื้อหาของวิชาภูมิศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย  เขมร  ลาว  และเวียดนาม  หรือนำเอาหลักเกณฑ์ของวิชาคณิตศาสตร์มาเชื่อมโยงเป็นเครื่องมือในการสอนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
              สำหรับวิธีการที่ใช้ในการสัมพันธ์วิชา  เท่าที่ปฏิบัติกันมามีอยู่ 3 วิธีคือ
                   1. สัมพันธ์ในข้อเท็จจริง  กล่าวคือใช้ข้อเท็จจริงของวิชาส่วนหนึ่งมาช่วยประกอบการสอนอีกวิชาหนึ่ง เช่น เมื่อมีการศึกษาประวัติศาสตร์ตอนใดตอนหนึ่งถ้าปรากฏว่ามีวรรณคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตอนนั้นอยู่ด้วย  ก็นำเอาวรรณคดีนั้นมาศึกษาด้วยในขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มความเข้าใจแก่ผู้เรียนมากขึ้น ในทำนองเดียวกันอาจนำเอาข้อเท็จจริงของวิชาภูมิศาสตร์มาสอนให้ทราบถึงสาเหตุของสงคราม  หรือแสดงเส้นทางของกองทัพ  หรือแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศคู่สงครามก็ได้
                   2. สัมพันธ์ในหลักเกณฑ์  การสร้างความสัมพันธ์วิธีนี้เป็นการนำเอาหลักเกณฑ์หรือแนวความคิดของวิชาหนึ่งไปใช้อธิบายเรื่องราวหรือแนวความคิดของอีกวิชาหนึ่ง  เช่น  สร้างความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงวิชาจิตวิทยากับสังคมวิทยาเข้าด้วยกัน โดยใช้หลักจิตวิทยาอธิบายเหตุการณ์ในสังคมในวิชาประวัติศาสตร์  เป็นต้นว่าใช้กฎการขาดความมั่นคงและการถดถอย (Frustration and Regression) แสดงให้เห็นว่าการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวและใช้อาวุธเข้าทำร้ายประเทศเพื่อนบ้าน ก็เนื่องจากประชาชนในประเทศถูกกดดันมาเป็นเวลานาน ในทำนองเดียวกันกฎเกณฑ์ของวิชาวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ฯลฯ ก็อาจนำมาเชื่อมโยงกันได้
                   การนำเอากฎเกณฑ์ของวิชาหนึ่งไปใช้กับอีกวิชาหนึ่ง ดังได้กล่าวมานี้ เป็นผลให้เกิดการหลอมวิชา (Fusion)  และเกิดหลักสูตรอีกแบบหนึ่งเรียกว่า หลักสูตรบูรณาการ (The Integrated Curriculum)
                   3. สัมพันธ์ในแง่ศีลธรรมและหลักปฏิบัติในสังคม วิธีนี้คล้ายวิธีที่  2 แค่แตกต่างกันตรงที่ว่า แทนที่จะใช้หลักเกณฑ์หรือแนวความคิดเป็นตัวเชื่อมโยง กลับใช้หลักศีลธรรมและหลักปฏิบัติของสังคมเป็นเครื่องอ้างอิง ตัวอย่างเช่น อาจเชื่อมโยงแนวความคิดของผู้ประพันธ์วรรณคดี  ยุคหนึ่ง เข้ากับระบบการปกครองในยุคนั้นก็ได้ คือใช้วรรณคดีสะท้อนความคิดด้านการปกครอง ทำให้มองเห็นแนวความคิดได้เด่นชัดยิ่งขึ้น
              หลักสูตรสัมพันธ์วิชาที่ปรับปรุงขึ้นมาจากหลักสูตรรายวิชานี้  มีประโยชน์หลายอย่างที่สำคัญคือ  ช่วยให้ผู้เรียนมีความสนใจในสิ่งที่เรียนมากขึ้น  ทำให้ผู้เรียนมองเห็นโปรแกรมการเรียนการสอนเป็นส่วนรวมชัดเจนขึ้น  ทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนมีมากขึ้นและกว้างขวางกว่าเดิมและเปิดทางให้สามารถขยายงานด้านตำราเรียนได้กว้างขวางขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามข้อบกพร่องที่ยังแก้ไม่ได้ก็คือ  รูปแบบของหลักสูตรยังคงเป็นหลักสูตรรายวิชาอยู่นั่นเอง  ในปัจจุบันหลักสูตรสัมพันธ์วิชายังมีใช้ อยู่เพียงในบางประเทศที่ยังคงใช้หลักสูตรรายวิชาเป็นหลัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น