19 ก.ย. 2561

หลักสูตรประสบการณ์ (The Experience Curriculum)

หลักสูตรประสบการณ์ (The Experience Curriculum) 

            เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ว่าหลักสูตรเดิมที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรรายวิชาหรือหลักสูตรกว้าง ล้วนไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนเท่าที่ควร พื้นฐานความคิดของหลักสูตรนี้มีมาตั้งแต่สมัยรุซโซ (Rousseau) และเพลโต (Plato) แต่ได้นำมาปฏิบัติจริงเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี้เองนับเป็นก้าวแรกที่ยึดเด็กหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
              แรกที่เดียวหลักสูตรนี้มีชื่อว่าหลักสูตรกิจกรรม (The Activity Curriculum) ที่เปลี่ยนชื่อไปก็เนื่องจากได้มีการแปลเจตนารมณ์ของหลักสูตรผิดไปจากเดิม กล่าวคือ มีบุคคลบางกลุ่มคิดว่าถ้าให้ผู้เรียนทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรผู้เรียนก็จะเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ เข้าทำนองว่าขอให้ทำกิจกรรมก็เป็นใช้ได้ (Activity for activity sake) ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการคิดว่าควรเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ ประกอบกันในระยะนั้นทฤษฎีเปลี่ยนชื่อเป็นหลักสูตรประสบการณ์ ต่อมาภายหลังเมื่อ วิลเลี่ยมคิลแพทริก (William Kilpatrick) นำเอาความคิดเรื่องการจัดประสบการณ์ในรูปการสอนแบบโครงการเข้ามาหลักสูตรนี้ก็ได้ชื่อเพิ่มขึ้นอีกชื่อหนึ่งว่า หลักสูตรโครงการ (The Project Curriculum) อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในที่นี้เราจะใช้ชื่อหลักสูตรประสบการณ์เพียงชื่อเดียว
1. วิวัฒนาการของหลักสูตร
              หลักสูตรประสบการณ์ถูกนำมาใช้ครั้งแรกที่โรงเรียนทดลอง (Laboratory School) ของมหาวิทยาลัยซิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1896 โดยจอห์นและแมรีดิวอี้ พื้นฐานของหลักสูตรตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ถ้าจะให้ผู้เรียนสนใจและเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน จะต้องอาศัยแรงกระตุ้น 4 อย่างคือ
                   1. แรงกระตุ้นทางสังคม (Social Impulse) ซึ่งเห็นได้จากการที่ผู้เรียนมีความปรารถนาที่จะคบหาสมาคมกับเพื่อน
                   2. แรงกระตุ้นทางสร้างสรรค์ (Constructive Impulse) ซึ่งสังเกตได้จากการที่ผู้เรียนไม่อยู่นิ่งชอบเล่น ชอบทำกิจกรรม ชอบเล่นสมมุติ ชอบประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ฯลฯ
                   3. แรงกระตุ้นทางการค้นคว้าทดลอง (Impulse to Investigate and Experiment) หมายถึง ความอยากรู้อยากเห็น รวมทั้งอยากทดลองทำสิ่งที่ตนสงสัย จะเห็นได้จากการที่ผู้เรียนชอบรื้อค้นสิ่งต่างๆ และเล่นกับสิ่งที่อาจจะเป็นอันตราย เช่น เอามือไปแหย่ไฟด้วยความอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น
                   4. แรงกระตุ้นทางการแสดงออกด้วยคำพูด การกระทำ และทางศิลปะ (Expressive or Artistic Impulse) ได้แก่ การแสดงออกในด้านการขีดเขียน การพูด การวาดภาพ การเล่นดนตรี ฯลฯ
              จอห์น ดิวอิ ถือว่าแรงกระตุ้นทั้ง 4 อย่างนี้ ผู้เรียนมีอยู่พร้อม และจะนำออกมาใช้ตามขั้นของพัฒนาการของตน ดั้งนั้นถ้าจะให้ผู้เรียนรู้และมีทักษะในด้านหนึ่งด้านใด ก็ควรเริ่มต้นจากกิจกรรมที่เป็นแรงกระตุ้นอยู่แล้ว และถ้าจะให้เกิดผลดียิ่งขึ้น กิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นควรมีประโยชน์แก่ผู้เรียนด้วย โดยเฉพาะควรเป็นกิจกรรมประเภทการงานที่มีประโยชน์ต่อชีวิติประจำวัน เช่น งานประกอบอาหาร งานเย็บปักถักร้อย และงานช่าง เป็นต้น สำหรับทักษะต่างๆ เช่น การอ่าน การเขียนและการคิดเลข ควรเป็นผลที่เกิดจากการกระทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยที่เด็กหรือผู้เรียนมองเห็นด้วยตนเองว่า ถ้าจะทำกิจกรรมให้เกิดผลดีก็จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะต่างๆ ควบคู่ไปด้วย
              ในปี ค.ศ. 1904 นักการศึกษาอีกท่านหนึ่งชื่อ มิเรียม (J.L Meriam) ได้ทดลองนำหลักสูตรประสบการณ์ไปใช้ในโรงเรียนประถมของมหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) โดยกำหนดขอบเขตของหลักสูตรให้คลอบคลุมกิจกรรม 4อย่างคือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการสังเกตพิจารณา กิจกรรมที่เกี่ยวกับการเล่น กิจกรรมที่เกี่ยวกับนิยายและเรื่องราวต่างๆ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับ         การทำงานด้วยมือ หลักการของหลักสูตรก็เหมือนกันกับของจอห์น ดิวอี้ คือใช้ทักษะในการอ่าน เขียน คิดเลข เป็นเครื่องส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำกิจกรรม
              ในปี ค.ศ. 1918 นักการศึกษาอเมริกันที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งคือ วิลเลียมคิลแพทริก (W.H. Kilpatrick) ได้เขียนบทความชื่อ วิธีสอนแบบโครงการ (The Project Method) เป็นผลให้หลักสูตรประสบการณ์ในรูปแบบของโครงการถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในชั้นประถมศึกษาแต่ในชั้นมัธยมศึกษาหลักสูตรนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าครูและผู้บริหารยังคงถูกอิทธิพลของหลักสูตรรายวิชาครอบงำอยู่
              อย่างไรก็ตาม หลักสูตรประสบการณ์ได้รับความนิยมอยู่ไม่นานก็ซบเซาไป ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาของหลักสูตรนี้มีมาก และปัญหาบางอย่างก็ยังแก้กันไม่ตก ดังจะได้กล่าวต่อไป
              สำหรับประเทศไทยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับวิธีสอนแบบโครงการในสถานศึกษาฝึกหัดครูก่อน พ.ศ. 2500 เสียอีก แต่ไม่ได้มีการจัดทำหลักสูตรโครงการขึ้นใช้ ได้มีการนำเอาวิธีสอนแบบโครงการมาทดลองใช้บ้างในบางที่บางแห่ง แต่ก็เป็นเพียงการทดลองเท่านั้น
2. ลักษณะสำคัญของหลักสูตร
1. ความสนใจของผู้เรียน เป็นตัวกำหนดเนื้อหา และเค้าโครงหลักสูตร ลักษณะข้อนี้หมายความว่า จะสอนอะไร เมื่อใด และจะเรียงลำดับการสอนก่อนหลังอย่างไรขึ้นอยู่กับความสนใจและความต้องการของผู้เรียน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กิจกรรมที่ผู้เรียนกระทำเป็นกิจกรรมที่เขามองเห็นความจำเป็นและประโยชน์อย่างแท้จริงไม่ใช่สนใจเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสนุกสนานและไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่ผู้ใหญ่คิดเอาเองว่าเป็นสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ
              แนวความคิดของหลักสูตรนี้มีว่า เวลาที่ผู้เรียนทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ผู้เรียนย่อมหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทำขึ้นลอยๆ โดยปราศจากความมุ่งหมาย ความสนใจของผู้เรียนย่อมมีอยู่และเป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องค้นหาให้พบ แล้วใช้เป็นบันไดในการสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษาแก่ผู้เรียน แนวความคิดนี้ชี้ให้เห็นว่าหลักสูตรประสบการณ์ประกอบด้วยกิจกรรมอันจะนำไปสู่ความสนใจใหม่และกิจกรรมใหม่ต่อเนื่องกันไป อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่ควรเอาใจใส่ก็คือความสนใจของผู้เรียน ในเรื่องนี้เราจะต้องระวังอย่าเอาไปปะปนกับสิ่งที่เขาเห่อหรือนิยมชมชอบเพียงชั่วครั้งชั่วคราว พึงเข้าใจว่าความสนใจที่แท้จริงนั้นจะต้องประกอบด้วยจุดมุ่งหมายที่แน่นอนและเมื่อได้ทราบความสนใจที่แท้จริงแล้ว จึงใช้เป็นพื้นฐานในการวางแผนการสอนต่อไป
              หลักที่ว่าแผนการสอนขึ้นอยู่กับความสนใจและความต้องการของผู้เรียน ชี้ให้เห็นว่าเนื้อหาวิชาเปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะสนองความมุ่งหมายหรือความใฝ่ฝันของแต่ละบุคคลและของหมู่คณะ เป็นการตรงกันข้ามกับทัศนะดั้งเดิมที่ว่า ความมุ่งหมายและความสนใจของผู้เรียนเปรียบเสมือนเครื่องช่วยให้ผู้เรียนสามารถเป็นวิชาที่ผู้ใหญ่กำหนดให้เรียนได้ดีขึ้น ในที่นี้เนื้อวิชามีประโยชน์ในการกำหนดลักษณะของกิจกรรมที่จะตอบสนองต่อความต้องการและความสนใจของผู้เรียน ซึ่งหมายความว่าความรู้เกิดขึ้นจากผลของการกระทำของผู้เรียน เป็นการกระทำเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายของตนกล่าวคือ ในระหว่างที่ทำกิจกรรมนั้นผู้เรียนจะเกิดความต้องการความรู้ และเมื่อได้ศึกษาเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้เรียนสิ่งที่ต้องการ
              อย่างไรก็ตามปัญหาที่ผู้สอนยังต้องเผชิญอยู่ก็คือ จะทำอย่างไรกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนและทั้งหมดในชั้น เป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องค้นหาความสนใจทั้งสองประเภทนี้เสียก่อนแล้วช่วยให้ผู้เรียนเลือกว่าอะไรคือความสนใจที่แท้จริง อะไรที่มีคุณค่าสำหรับส่วนรวมและแต่ละคนทั้งนี้เพื่อจะได้สามารถสนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
                   2. วิชาที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียน คือวิชาที่ผู้เรียนมีความสนใจรวมกัน ความสนใจรวมกันจะต้องอาศัยความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งพื้นฐานครอบครัว ซึ่งจะชี้ถึงค่านิยมละความสนใจของผู้เรียนด้วย เมื่อทราบว่าผู้เรียนส่วนใหญ่สนใจอะไรก็นำเอามาจัดเป็นโปรแกรมการเรียนการสอนขึ้น
              การที่ต้องอาศัยความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก  ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างหลักสูตรประสบการณ์กับหลักสูตรรายวิชา และหลักสูตรแกน โดยที่เนื้อของหลักสูตรแบบหลังทั้งสองแบบจะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า แต่หลักสูตรประสบการณ์กำหนดเนื้อหาจากความสนใจของผู้เรียนเป็นคราวๆ ไป นอกจากนี้หลักสูตรรายวิชายังอาศัยความรู้เป็นกรอบ และหลักสูตรแกนก็อาศัยปัญหาสังคมเป็นกรอบซึ่งต่างกับหลักสูตรประสบการณ์โดยสิ้นเชิง
                   3. โปรแกรมการสอนไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า  ที่กล่าวเช่นนี้หมายความว่า  ในหลักสูตรแบบนี้ผู้สอนไม่สามารถกำหนดกิจกรรมการเรียนไว้ล่วงหน้า  แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้สอนไม่เตรียมตัวการสอนเลย  อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ผู้เรียนต้องกระทำก่อนการสอนก็คือ การสำรวจความสนใจของผู้เรียนแต่ละคนและทั้งชั้น  และช่วยผู้เรียนในการตัดสินใจว่าความสนใจเรื่องใดมีคุณค่าควรแก่การศึกษา อนึ่ง เมื่อลงมือสอนหน้าที่ของผู้สอนก็คือ การช่วยผู้เรียนว่างแผนกิจกรรมต่างๆ และช่วยในการประเมินผลกิจกรรมที่ทำไปแล้ว
                   4.  ใช้วิธีแก้ปัญหาเป็นหลักใหญ่ในการเรียนการสอน ดังได้กล่าวแล้วว่าในหลักสูตรประสบการณ์ผู้สอนและผู้เรียนรวมกันพิจารณาตัดสินว่าควรจะทำกิจกรรมอะไร จึงเห็นได้ว่านับตั้งแต่เริ่มแรกก็มีปัญหาต้องขบคิดกันแล้ว คือปัญหาที่ว่าจะทำอะไร  อย่างไร และเมื่อใด  จะต้องอาศัยอะไรเป็นเครื่องช่วยเพื่อให้การกระทำสำเร็จผล ปัญหาและอุปสรรคที่จำเป็นต้องแก้ไขเป็นการล่วงหน้ามีอะไรบ้าง ฯลฯ สิ่งดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าการสอนตามหลักสูตรประสบการณ์ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย  ไม่ใช่เป็นการบอกวิชาแก่ผู้เรียนโดยตรง จริงอยู่การบอกวิชาอาจมีบ้างเป็นครั้งคราวแต่ไม่ใช่เป็นหัวใจของการเรียนการสอน  ถ้าผู้เรียนจะได้รับความรู้อะไรจากการบอกเล่าก็ควรเป็นในแง่ที่ความรู้นั้นจะช่วยกระตุ้นหรือส่งเสริมการแก้ปัญหาที่กำลังทำอยู่  คุณค่าของหลักสูตรไม่ได้อยู่ที่คำตอบที่ได้จากการแก้ปัญหา  แต่อยู่ที่ผลซึ่งผู้เรียนได้รับจากการที่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหานั้น  โดยในดังกล่าววิชาจึงเป็นเครื่องมือสำหรับใช้แก้ปัญหา  และด้วยเหตุผลนี้หลักสูตรประสบการณ์จึงใช้วิชาเกือบทุกวิชาเข้าช่วย  สุดแท้แต่ว่าปัญหาจะพาดพิงถึงหรือต้องอาศัยวิชาใด ขณะเดียวกันผู้เรียนก็จะได้เรียนรู้วิชาต่างๆ  และฝึกทักษะไปด้วยในระหว่างที่ทำการแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้และฝึกทักษะในเมื่อความสนใจได้เกิดขึ้นแล้ว
3.  ปัญหาของหลักสูตรประสบการณ์
              ดังได้กล่าวแล้วว่าหลักสูตรประสบการณ์อาศัยความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก  ในการจัดเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอน  ดังนั้นจึงสร้างปัญหาแก่ผู้ใช้หลักสูตรอย่างมาก  ที่สำคัญคือ
              1. ปัญหาการกำหนดวิชาในหลักสูตร  หลักสูตรประสบการณ์นำเอาแนวความคิดใหม่มาใช้  คือแทนที่จะคิดในรูปแบบของวิชาอย่างหลักสูตรรายวิชา  กลับมองความสนใจปัจจุบันของผู้เรียนเป็นหลัก  เมื่อเป็นดังนี้จึงเกิดปัญหาว่าผู้เรียนจะได้เรียนอะไร  การกำหนดเนื้อหาย่อมทำได้ยาก  ประสบการณ์ที่จัดให้ตามความสนใจอาจไม่ใช่ประสบการณ์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นก็ได้นอกจากนี้การที่ยึดความสนใจเป็นหลักอาจเกิดปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของประสบการณ์รวมทั้งความต่อเนื่องของเนื้อหาวิชาที่เรียนด้วย  ปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งก็คือ  ครูหรือผู้สอนอาจเผลอนำเอาความสนใจของตนมาสรุปว่า  เป็นความสนใจของผู้เรียน  ถ้าหากเป็นดังว่าก็เท่ากับได้ทำลายหลักการของหลักสูตรนี้โดยสิ้นเชิง
              2. ปัญหาการจัดแบ่งวิชาเรียนในชั้นต่างๆ ในการจัดแบ่งเนื้อหาในชั้นต่างๆ หลักสูตรประสบการณ์ใช้หลักเดียวกันกับหลักสูตรรายวิชา คือพิจารณาจากวุฒิภาวะ  ประสบการณ์เดิม  เนื้อหาวิชาที่เรียนมาแล้ว  ความสมใจประโยชน์และความยากง่ายของเนื้อหา  ข้อแตกต่างมีว่าหลักสูตรประสบการณ์ไม่ได้คิดเพียงการนำเอาเนื้อหาวิชามาเรียนลำดับกันเท่านั้น  แต่จะพิจารณาด้วยว่าเนื้อหาอะไรที่ผู้เรียนจะเรียนได้ดีที่สุดและรวดเร็วที่สุด  ปัญหานี้ยังหาคำตอบที่พอใจไม่ได้
              แรกทีเดียวก็เข้าใจกันว่า  การจัดแบ่งวิชาในชั้นต่างๆ  ตามแนวคิดของคิดของหลักสูตรประสบการณ์ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร  เพราะตราบใดที่ผู้สอนและผู้เรียนมีอิสรเสรีในการเลือกกิจกรรมด้วยตัวเองแล้วปัญหาก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น  ครั้นเมื่อลงมือปฏิบัติจริงกลับปรากฏว่ามีปัญหามาก เป็นต้นว่า  ไม่สามารถสร้างความต่อเนื่องของเนื้อหาวิชาระหว่างชั้นเรียนได้และบางทีก็มีการจัดกิจกรรมซ้ำๆ กันทุกปี  ได้มีการแก้ไขโดยการจัดทำตารางสอนของแต่ละปีขึ้นแต่ก็ไม่ได้ผล  เพราะตารางสอนเหล่านั้นเป็นเรื่องของเก่าไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าในปีใหม่ควรทำอะไรกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น