4 ก.ย. 2561

ความหมายของหลักสูตร

คำว่าหลักสูตรแปลมาจาก คำในภาษาอังกฤษว่า “curriculum”   ซึ่งมีรากฐานมาจากภาษาละติน
ว่า ”Currere” หมายถึง  Running  Couse หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่ง  ต่อมาได้นำศัพท์นี้มาใช้ในทางการศึกษาว่า  Running  Sequence  or  learning  experience   การเปรียบเทียบหลักสูตรกับสนามหรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่ง  อาจเนื่องมาจากการที่ผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาในระดับใดหรือหลักสูตรใดก็ตามผู้เรียนต้องฝ่าฟันความยากของวิชาหรือประสบการณ์การเรียนรู้ตามลำดับขั้นที่กำหนดไว้ในหลักสูตรเช่นเดียวกับนักวิ่งที่ต้องวิ่งแข่งและฝ่าฟันอุปสรรคไปสู่ชัยชนะและความสำเร็จให้ได้
ความหมายของหลักสูตรจากนักการศึกษาต่างประเทศ
บ๊อบบี้ (Bobbit,  1972 : 42)  ได้ให้ความหมายว่า หลักสูตร  คือ  รายการของสิ่งต่างๆที่เด็กและเยาวชนต้องทำและมีประสบการณ์ด้วยวิธีการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่างๆดังกล่าวให้ดี  เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้
นักลีย์และอีแวนส์ (Neagley  and  Evans,  1976 : 2) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า  เป็นประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดเพื่อช่วยให้นักเรียนได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามความสามารถของนักเรียน
โอลิวา (Oliva,  1982 : 10)  กล่าวว่าหลักสูตร  คือ  แผนหรือโปรแกรมสำหรับประสบการณ์ทั้งหลายที่ผู้เรียนจะต้องประสบปัญหาภายใต้การอำนวยการของโรงเรียน


วีลเลอร์

วีลเลอร์(Wheenler,  1974 : 11) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า มวลประสบการณ์ การเรียนรู้ซึ่งโรงเรียนหรือสถานศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน
โครว์ (Crow,  1980 : 250) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรคล้ายกับของวิลเลอร์ เขากล่าวว่าหลักสูตรเป็นประสบการณ์ที่นักเรียนได้รับทั้งภายในและนอกโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนมีพัฒนาการด้านร่างกาย สังคมปัญญา และจิตใจ
แคสเวนและแคม์เบลล์ (Caswell & Campbell, 1935 : 69) ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในหนังสือ Curriculum Development ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1935 โดยให้ความหมายของหลักสูตรในโรงเรียนว่า  หลักสูตรประกอบด้วยประสบการณ์ทุกอย่างที่จะทำให้เด็กโดยอยู่ในความดูแลของครูผู้สอน แคสเวนและแคม์เบลล์ไม่ได้มองหลักสูตรว่าเป็นกลุ่มของรายวิชาแต่หมายถึง ประสบการณ์ทุกชนิดที่เด็กมีภายใต้การแนะนำของครู
เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor & Alexander,  1974 : 6)ได้กล่าวความหมายของหลักสูตรว่าเป็นแผนสำหรับการจัดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่วางไว้ให้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของทาบา(Taba,  1962  :  10)ที่กล่าว ว่าหลักสูตร คือแผนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายเฉพาะการเลือกและการจัดเนื้อหาวิธีการจัดการเรียนการสอนและประมวลผล
ไทเลอร์

ไทเลอร์ (Tyler. 1949: 79)  ได้สรุปว่าหลักสูตรเป็นสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ทั้งหมด  โดยมีโรงเรียนเป็นผู้วางแผนและกำกับเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายของการศึกษ
ปริ้น  (Print M. 1993:9)  ด้ศึกษานิยามของนักพัฒนาหลักสูตรแล้ว  ปริ้นสรุปว่า  หลักสูตรจะกล่าวถึง 
แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 
สิ่งที่เสนอในสถาบันการศึกษา/โปรแกรมการศึกษา 
การนำเสนอในรูปเอกสาร 
รวมถึงผลของประสบการณ์จากการนำเอกสารต่างๆไปใช้ 


ความหมายของหลักสูตรจากนักการศึกษาไทย


ชมพันธุ์   กุญชร    อยุธยา

              ชมพันธุ์   กุญชร    อยุธยา  (2540 : 3 – 5)  ได้อธิบายความหมายของ หลักสูตรว่า   มีความแตกต่างกันไปตั้งแต่ความหมายที่แคบสุดจนถึงกว้างสุด  ซึ่งสามารถจำแนกความคิดเห็นของนักการศึกษาที่ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรแบ่งออกเป็น  2  กลุ่มใหญ่ๆ  ได้ดังนี้
              1.หลักสูตร  หมายถึง  แผนประสบการณ์การเรียน  นักการศึกษาที่มีความคิดเห็นว่า  หลักสูตร หมายถึง  แผนประสบการณ์การเรียนนั้น  มองหลักสูตรที่เป็นเอกสารหรือโครงการของการศึกษาที่สถาบันการศึกษาไว้วางแผนไว้  เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาตามแผนหรือโครงการที่กำหนดไว้  หลักสูตรตามความหมายนี้ หมายรวมถึง  แผนการเรียนหรือรายวิชาต่างๆ ที่กำหนดให้เรียนรวมทั้งเนื้อหาวิชาของรายวิชาต่างๆ กิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผล ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนความคิดเห็นของนักการศึกษากลุ่มนี้ ไม่รวมถึงการนำหลักสูตรไปใช้หรือการเรียนการสอนที่ปฏิบัติจริง
              2.หลักสูตร  หมายถึง  ประสบการณ์การเรียนของผู้เรียน  ที่สถาบันการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียนประกอบด้วย  จุดมุ่งหมาย  เนื้อหา  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  การประเมินผล


 รุจิร์  ภู่สาระ

            รุจิร์  ภู่สาระ  (2545 : 1)  ได้อธิบายความหมายของหลักสูตรว่า  หมายถึง  แผนการเรียน ประกอบด้วยเป้าหมาย  และจุดประสงค์เฉพาะที่จะนำเสนอและจัดการเนื้อหา  รวมถึงแบบของการเรียนการสอนตามจุดประสงค์  และท้ายที่สุดจะต้องมีการประเมินผลของการเรียน
          นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า "หลักสูตร" ด้วยอักษรย่อ SOPEA  ซึ่งหมายถึง
                - S (Curriculum as Subjects and Subject Matter) 
                      หลักสูตร คือ รายวิชาหรือเนื้อหาวิชาที่เรียน
                - O (Curriculum as Objectives)
                      หลักสูตร คือ จุดหมายที่ผู้เรียนพึงบรรลุ
                 - P (Curriculum as Plans)
                       หลักสูตร คือ แผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์แก่นักเรียน
                 - E (Curriculum as Learners, Experiences)
                       หลักสูตร คือ ประสบการณ์ทั้งปวงของผู้เรียนที่จัดโดยโรงเรียน
                 - A (Curriculum as Educational Activities)
                       หลักสูตร คือ กิจกรรมทางการศึกษาที่จัดให้กับนักเรียน
          หลักสูตรในความหมายเดิม จะหมายถึง รายวิชาต่าง ๆ ที่นักเรียนจะต้องเรียนส่วนความหมายใหม่ จะหมายถึง มวลประสบการณ์ทั้งหมดที่นักเรียนจะได้ภายใต้คำแนะนำ และความรับผิดชอบของโรงเรียน
          หากจะสรุปความหมายของหลักสูตรจากนักการศึกษาหลายท่านพอจะสรุปได้ดังนี้
          1. หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
          2. หลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารหลักสูตร
          3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้แก่นักเรียน
          4. หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียน
          5. หลักสูตรในฐานะที่มวลประสบการณ์
          6. หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
          7. หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
นอกจากนั้นยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับหลักสูตรอีก เป็นต้นว่า
          1. โปรแกรมการเรียน (A Program of Studies) คำนี้ใช้แทนความหมายของหลักสูตร ซึ่งคนทั่ว ๆไปใช้ คล้ายกับรายการเรียงลำดับรายวิชา ปัจจุบันยังมีการใช้คำนี้ในการ จัดการศึกษาอุดมศึกษาโดยการจัดลำดับรายวิชา
          2. เอกสารการเรียน (A Docment) เป็นการให้ความหมายของหลักสูตร ตามจุดมุ่งหมายที่ จะให้ศึกษา เพื่อเสนอต่อผู้มาติดต่อที่สถานศึกษา
          3. แผนการจัดกิจกรรม (Planned Experiences) หมายถึง กิจกรรมทั้งมวลที่โรงเรียน จัดให้นักเรียนและการวางแผนหลักสูตรเป็นการเตรียมการให้โอกาสกับผู้เรียน
          4. หลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum) หมายถึง หลักสูตรที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า
          หลักสูตรถือว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาทุกระดับ หลักสูตรระบุสิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนและแนวทางจัดให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ หลักสูตรเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในการสร้างบ้าน ส่วนการสอนเป็นกระบวนการหรือวิธีการ หลักสูตรจะระบุสิ่งที่จะสอนในโรงเรียนระบุสิ่งที่ผู้เรียนควรจะเรียนรู้ (เนื้อหา)


วิชัย วงษ์ใหญ่

 วิชัย  วงษ์ใหญ่ (2537: 12) ได้ให้แนวคิดว่า หลักสูตร คือ มวลประสบการณ์ทั้งปวงที่จัดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ครบถ้วนตามมาตรฐานคุณภาพสากล มาตรฐานความเป็นชาติไทยและมาตรฐานที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการ
 สงัด  อุทรานันท์ (2538: 6) กล่าว หลักสูตร หมายถึง ลักษณะใดลักษณะหนึ่งต่อไปนี้ 1. หลักสูตร คือ สิ่งที่สร้างขึ้นในลักษณะของรายวิชา ซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อสาระที่จัดเรียงลำดับความยากง่าย หรือเป็นขั้นตอนอย่างดีแล้ว 2. หลักสูตร ประกอบด้วยประสบการณ์ทางเรียนซึ่งได้วางแผนล่วงหน้าเพื่อมุ่งหวังจะให้เด็กได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ต้องการ 3.หลักสูตร เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นสำหรับให้ประสบการณ์ทางการศึกษาแก่เด็กในโรงเรียน 4. หลักสูตร ประกอบด้วยมวลประสบการณ์ทั้งหมดของผู้เรียน ซึ่งเขาได้ทำได้รับรู้ และได้ตอบสนองต่อการแนะแนวของโรงเรียน
ธำรง บัวศรี

            ธำรง  บัวศรี (2542 : 7) ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงจุดหมายการจัดเนื้อหา กิจกรรมและมวลประสบการณ์ ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้
ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์

 ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์ (2543 :45)ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรไว้ ประการ  คือ
1. หลักสูตรเป็นศาสตร์ที่มีทฤษฎี  หลักการและการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งหมายไว้
2. หลักสูตรเป็นระบบในการจัดการศึกษา โดยมีปัจจัยนำเข้า  ได้แก่  ครู   นักเรียน  วัสดุอุปกรณ์  อาคารสถานที่  กระบวนการผลผลิต ได้แก่  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนความสำเร็จทางการศึกษา  เป็นต้น
 3. หลักสูตร เป็นแผนการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนที่มุ่งประสงค์จะอบรมฝึกฝนผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
ธีระ  รุญเจริญ

ธีระ  รุญเจริญ (2550 : 280) ได้ให้จำกัดความของคำว่าหลักสูตรดังนี้
 1. หลักสูตรหมายถึงประสบการณ์ทั้งหมดที่จัดให้นักเรียน โดยการควบคุมในนามของสถานศึกษาอันเป็นเครื่องมือที่ช่วยบรรลุวัตถุประสงค์หรือความคาดหวังทางการศึกษาที่ตั้งไว้
 2. หลักสูตรเป็นสื่อในการสอนที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์ 

ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์ (2551 : 47 ) ได้กล่าวสรุปว่า หลักสูตรเป็นเนื้อหาสาระสำคัญและกิจกรรมต่างๆ ที่สนองวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามที่พึงประสงค์
 ดร.เอกวิทย์  ณ ถลาง  หลักสูตร  หมายถึง  ประมวลประสบการณ์ทั้งหมดที่จัดให้กับเด็ก  ได้เรียนเนื้อหาวิชาทัศนคติ  แบบพฤติกรรม  กิจวัตร  สิ่งแวดล้อมต่างๆ ฯลฯ เมื่อประมวลกันเข้าแล้วก็จะเป็นประสบการณ์ที่ผ่านเข้าไปในการรับรู้ของเด็กๆ
กาญจนา คุณารักษ์ (2540 :14) กล่าวว่า หลักสูตร หมายถึง โครงการหรือแผนข้อกำหนดอันประกอบด้วย หลักการ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง กิจกรรมและวัสดุต่างๆในการจัดการเรียนการสอนที่จะพัฒนาผู้เรียนมีความสามารถและเกิดการเรียนรู้ โดยส่งเสริมให้เอกัตบุคคลไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตนเอง     
              ธวัชชัย  ชัยจิรฉายากุล (2529 : 10-11) กล่าวว่าหลักสูตร  หมายถึง  กิจกรรมหรือประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับผู้เรียน 
             สวัสดิ์  ประทุมราช และคณะ (2521 : 1) ให้ความหมายเกี่ยวกับหลักสูตรว่า เป็นแผนหรือแนวทางของการจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ที่ชี้แนะให้ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้พยายามจัดสรรประสบการณ์ทั้งมวล ตามที่หลักสูตรกำหนดให้แก่ผู้เรียนหรือเยาวชนในชาติได้พัฒนาตนเอง ทั้งในด้านความรู้ ทักษะและคุณสมบัติที่พึงประสงค์ตามจุดหมายของการจัดการศึกษาชาตินั่นเอง 

มาเรียม  นิลพันธุ์

มาเรียม  นิลพันธุ์ (2543 : 6) หลักสูตร หมายถึง เอกสารข้อกำหนดเกี่ยวกับมวลประสบการณ์ เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาไปในแนวทางที่ต้องการ 
ศักดิ์ศรี  ปาณะกุล 

            ศักดิ์ศรี  ปาณะกุล (2543 : 2) หลักสูตร  หมายถึง  ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือผ่านการยกร่างอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยรายละเอียดของหลักการ จุดหมาย โครงสร้างเนื้อหา กิจกรรม แนวทางหรือวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ การวัดผลและประเมินผล รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 



นิรมล  ศตวุฒิ

           นิรมล  ศตวุฒิ (2543 : 87) หลักสูตร  หมายถึง  ประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหมดที่ผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน ซึ่งประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้ ครอบคลุมตั้งแต่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง อันได้แก่ประสบการณ์เรียนรู้ที่กำหนดไว้ในจุดหมายของหลักสูตร ประสบการณ์ในขั้นดำเนินการ อันได้แก่ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากเนื้อหาวิชา และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นผลของการจัดการเรียนการสอนอันได้แก่ประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับไปแล้ว และจะนำไปใช้ต่อไปโดยสรุปผลที่ได้จากแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการประเมินหลักสูตร 


 สุเทพ  อ่วมเจริญ

            สุเทพ  อ่วมเจริญ (2555:4) สรุปว่าหลักสูตร  หมายถึง  ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อนำไปกำหนดวิถีทางที่นำไปสู่การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้ 

พัฒนาการของหลักสูตรในโลกตะวันตก
หลักสูตรเริ่มมีพัฒนาการเป็นครั้งแรกตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีหลักฐานปรากฏเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรมากว่า 2,500 ปีมาแล้ว  อย่างไรก็ตามเป็นที่เข้าใจว่าคงมีการจัดทำหลักสูตรมาก่อนหน้านั้น  แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน  โดยหลักสูตรจะเน้นการดำรงชีวิตในสังคม รวมถึงการท่องจำบทบัญญัติหรือคัมภีร์ต่าง ๆ ผู้ที่จบหลักสูตรเหล่านี้จะได้รับการยอมรับจากสังคม  นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรที่เน้นยุทธวิธีและพลศึกษาอีกด้วย ในสมัยกรีกโบราณ  ได้มีการจัดหลักสูตรเกี่ยวกับศิลปะและศีลธรรมเพิ่มเติมเข้ามา ทั้งนี้เนื่องมาจากอิทธิพลของนักปราชญ์อย่างโสเครตีสและเพลโต ส่งผลให้หลักสูตรที่เน้นเกี่ยวกับทางด้านการทหารนั้นถูกลดบทบาทลงไป และส่งผลให้จุดมุ่งหมายของหลักสูตรจากแต่เดิมเน้นการดำรงชีวิตและการทหาร ในหลักสูตรกรีกโบราณได้เปลี่ยนจุดมุ่งหมายเป็นการสร้างวินัยทางศีลธรรม จิตใจอันบริสุทธิ์ ความคิดและการ กระทำที่ถูกต้องและเป็นจริง  อย่างไรก็ตามหลักสูตรในรูปแบบนี้ใช้จัดการเรียนการสอนในหมู่ชนชั้นสูงเพียงเท่านั้น  อย่างไรก็ตามในช่วงศตวรรษที่ ก่อนคริสต์ศักราชได้เกิดกลุ่มโซฟิสต์ขึ้น โดยกลุ่มโซฟิสต์จะเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ และสอนโดยเก็บค่าเล่าเรียน การสอนของกลุ่มโซฟิสต์นี้จะไม่เน้นทางด้านปรัชญา ศิลปะหรือการดนตรีมากนัก ส่งผลให้การจัดหลักสูตรของกลุ่มโซฟิสต์จะเน้นหนักในการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงทางด้านภาษา ตรรกวิทยาและวรรณคดี  สำหรับหลักสูตรในโรมันจะเน้นหนักไปทางการท่องบทกวีของโฮเมอร์  กฎไวยากรณ์และหลักเกณฑ์การใช้ถ้อยคำโวหารหรือศิลปะการพูด โดยจัดการศึกษาโดยใช้ภาษาทั้งสิ้น ภาษาในการเรียนการสอน  คือภาษากรีกและภาษาละติน นอกจากนี้แล้วยังนำเรื่องของการเล่นต่าง ๆ เข้ามาสอดแทรกในกระบวนการสอนอีกด้วย
การเรียนการสอนในยุคกลาง
หลักสูตรแบบกรีกและโรมันใช้เรื่อยมาอย่างยาวนาน  จนกระทั่งถึงในสมัยยุคกลางที่หลักสูตรเริ่มมีเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม  โดยในสมัยนี้หลักสูตรแบบโรมันและกรีกค่อย ๆ เสื่อมลง และหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นโดยศาสนาจักรเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยในหลักสูตรมักประกอบไปด้วยวิชาภาษาละติน  ไวยากรณ์และศาสนวิทยา จนกระทั่งเกิดการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ  หลักสูตรแบบกรีกจึงกลับมาอีกครั้งและเกิดการจัดการศึกษาที่หลากหลายรูปแบบ  ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกี่ยวข้องกับหลักสูตร  กล่าวคือ  เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ชาวอังกฤษได้โจมตีการศึกษาแบบดั้งเดิมที่เน้นด้านภาษาและวรรณกรรมแบบคลาสสิกนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร และได้เสนอว่าในการจัดทำหลักสูตรนั้นควรพิจารณาว่าสิ่งใดมีคุณค่าต่อชีวิตและควรกำหนดระดับความสำคัญลดหลั่นกันลงไป  ซึ่งข้อเสนอของสเปนเซอร์นี้เองกลายเป็นแนวความคิดที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาหลักสูตรในปัจจุบัน
สำหรับพัฒนาการของหลักสูตรที่สำคัญนอกจากในทวีปยุโรปคือในสหรัฐอเมริกา  แม้ว่าในช่วงแรกจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทวีปยุโรป  แต่ในระยะเวลาต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  โดยได้เพิ่มรายวิชาใหม่ ๆ เข้าไปในหลักสูตรเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งพีชคณิต ดาราศาสตร์และเคมี เป็นต้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เกิดการปฏิรูปหลักสูตรครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา  โดยเกิดจากอิทธิพลของจอห์น ดิวอี้  ทำให้หลักสูตรเน้นการศึกษาในด้านการพัฒนาสังคม การเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  รวมไปถึงการหาประสบการณ์ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน  อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1957 สหภาพโซเวียตสามารถปล่อยดาวเทียมสปุตนิกขึ้นไปในอวกาศได้  ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปหลักสูตรให้มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการในเฉพาะสาขาวิชา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  อย่างไรก็ตามหลักสูตรรูปแบบนี้เปลี่ยนแปลงในอีก 10 ปีต่อมา โดยเป็นหลักสูตรแบบผสมที่เน้นทั้งรายวิชาพื้นฐาน รายวิชาสามัญและรายวิชาอาชีพ  อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการจัดหลักสูตรแบบใดก็ตามแนวคิดเรื่องการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางก็ยังคงเป็นจุดเน้นที่สำคัญของหลักสูตรสหรัฐอเมริกา
พัฒนาการหลักสูตรในลาตินอเมริกา
พัฒนาการหลักสูตรในลาตินอเมริกานั้นสามารถย้อนไปได้ถึงในสมัยที่จักรวรรดิแอซเท็คและจักรวรรดิอินคามีอำนาจในช่วงเวลาประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 14 - 16 เนื่องจากปรากฏระบบการจัดการเรียนการสอนในขณะนั้น  โดยหลักสูตรของแอซเทคนั้นสามารถแบ่งได้เป็น รูปแบบหลักดังนี้  รูปแบบหลักสูตรแรกคือหลักสูตรสำหรับเด็กชายชนชั้นสูงซึ่งหลักสูตรจะเน้นการเรียนการสอนเพื่อการเป็นนักบวชในอนาคต  โดยหลักสูตรนี้จะเน้นการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์  โหราศาสตร์  การเขียนและกฎหมายเป็นหลัก  หลักสูตรรูปแบบที่สองคือหลักสูตรสำหรับเด็กชายสามัญชน  ซึ่งจะเน้นการเรียนรู้ทางด้านการรบและพลศึกเป็นหลักและหลักสูตรรูปแบบสุดท้ายของแอซเท็คคือหลักสูตรสำหรับผู้หญิงซึ่งจะจัดการศึกษาโดยครอบครัวเป็นหลัก  ส่วนหลักสูตรของอินคานั้น  ชนชั้นสูงจะอยู่ภายใต้การดูแลของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ในขณะที่หลักสูตรของคนสามัญมีลักษณะไม่เป็นทางการ เพราะจัดการเรียนการสอนโดยสถาบันครอบครัว
เมื่อกลุ่มกองกิสตาดอร์จากสเปนเข้ามาพิชิตจักรวรรดิต่างๆของชนพื้นเมืองได้แล้ว เจ้าอาณานิคมได้ปฏิวัติระบบการเรียนการสอนและระบบหลักสูตรของดินแดนนี้ใหม่ทั้งหมด โดยการนำหลักการทางศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกเป็นหลักสูตรหลักเพื่อเปลี่ยนแปลงชนพื้นเมืองและทำให้ชนพื้นเมืองจงรักภักดีซึ่งหลักสูตรเหล่านี้กลายเป็นรากฐานของการพัฒนาหลักสูตรในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาในปัจจุบัน
พัฒนาการหลักสูตรในแอฟริกาใต้สะฮารา
ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) ไม่ได้มีการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบมากนักก่อนการเข้ามาของชาวตะวันตก  เนื่องจากไม่ปรากฏระบบโรงเรียนในภูมิภาคนี้  อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนการเข้ามาของชาวตะวันตกนั้นชาวพื้นเมืองในส่วนของแอฟริกาใต้สะฮารานั้นได้จัดทำหลักสูตรที่เน้นการเรียนการสอนทางด้านตำนานท้องถิ่นและพิธีกรรม  ซึ่งจะมีการสอดแทรกทางด้านคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมผ่านเรื่องราวเหล่านั้น  โดยมีผู้อาวุโสของชนเผ่าเป็นผู้จัดการเรียนการสอน  ในบางท้องที่ปรากฏการจัดทำหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตโดยสังคม  ซึ่งใช้วิธีการการขัดเกลาทางสังคมเป็นวิธีหลักในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรนี้
การจัดทำหลักสูตรในภูมิภาคนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการเข้ามาของชาวยุโรป  โดยชาวยุโรปที่เข้ามาในระยะแรกส่วนใหญ่มักเป็นนักสำรวจและมิชชันนารีซึ่งนำการศึกษาแบบตะวันตกมาเผยแพร่ให้กับชาวพื้นเมือง  โดยชาวยุโรปเหล่านี้เริ่มเข้ามาจัดการศึกษาในหลักสูตรแบบตะวันตกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยชาวโปรตุเกสแต่มีการดำเนินการจริงจังในคริสต์ศตวรรษที่ 18  ส่งผลให้หลักสูตรของภูมิภาคนี้ในระยะนี้มีลักษณะตามแบบชาติตะวันตกที่เป็นเจ้าอาณานิคม  โดยหลักสูตรจะเน้นการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ชาวพื้นเมืองมีความรู้พื้นฐานพอที่จะทำงานในระบบราชการได้  หลักสูตรแบบตะวันตกนี้เองได้เป็นรากฐานในการพัฒนาหลักสูตรของภูมิภาคนี้ในปัจจุบัน
พัฒนาการหลักสูตรในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
หลักสูตรในภูมิภาคนี้พบการพัฒนาในระยะเบื้องต้นใน อียิปต์โบราณ และเมโสโปเตเมีย ในเมโสโปเตเมียนั้นผู้ชายเท่านั้นที่ได้รับการศึกษา  โดยหลักสูตรการเรียนการสอนของเมโสโปเตเมียนั้นจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยผู้อาวุโส  ซึ่งจะจัดการเรียนการสอนในรายวิชาเหล่านี้ คือ อักษรคูนิฟอร์ม  คณิตศาสตร์  กฎหมาย  ชีววิทยา  ดาราศาสตร์  ตำนานเทพเจ้า  บทกวี  เศรษฐศาสตร์เกษตรกรรมและภาษา  สำหรับผู้หญิงนั้นจะเน้นสอนกันเองภายในครอบครัว  โดยเน้นเรื่องงานบ้านเป็นหลักในอียิปต์โบราณนั้น  ผู้ชายชนชั้นสูงสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากกว่าผู้ชายชนชั้นล่างและผู้หญิง  โดยเน้นการจัดการเรียนการสอนให้กับ กลุ่มหลักคือนักบวชและอาลักษณ์  โดยหลักสูตรของทั้ง กลุ่มจะเน้นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้วิธีการจดจำสิ่งต่างๆและใช้การลงโทษเป็นการเสริมแรงให้เกิดการเรียนรู้
เมื่อศาสนาอิสลามเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้การพัฒนาหลักสูตรได้รับอิทธิพลโดยตรงจากศาสนา  โดยมีการก่อตั้งมาดราซาห์เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน  โดยหลักแล้วหลักสูตรของอิสลามจะเน้นการเรียนการสอนทางด้านศาสนาเป็นหลัก  กล่าวคือ มีการบรรจุรายวิชาภาษาอาหรับ ตัฟซีร กฎหมายชะรีอะฮ์ หะดีษ ตรรกศาสตร์และประวัติศาสตร์อิสลาม  นอกจากนี้แล้วในหลักสูตรยังบรรจุรายวิชาอื่นๆอีกด้วยขึ้นอยู่กับแต่ละมาดราซาห์  โดยบางสถาบันอาจเพิ่มเติมรายวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์และศาสตร์อื่นๆเข้าไปผสมผสานอีกด้วย  สำหรับหลักสูตรรูปแบบนี้เป็นรากฐานในการพัฒนาหลักสูตรของกลุ่มประเทศที่นับถิอศาสนาอิสลามในปัจจุบัน  โดยผสมผสานกับหลักสูตรแบบสมัยใหม่
พัฒนาการหลักสูตรในเอเชีย
หลักสูตรในทวีปเอเชียนั้น แม้จะไม่มีการใช้คำว่าหลักสูตรอย่างเป็นทางการแต่ก็ปรากฏลักษณะของหลักสูตรตั้งแต่สมัยโบราณ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกและอนุทวีปอินเดีย สำหรับพัฒนาการหลักสูตรในอนุทวีปอินเดียนั้นสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยพระเวท  โดยหลักสูตรในสมัยนี้นั้นจะเน้นการจัดการเรียนการสอนในด้านการสวดพระเวท  ไวยากรณ์ธรรมชาติ  การให้เหตุผล  บทกวี วิทยาศาสตร์  รวมไปถึงทักษะทางอาชีพต่างๆสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต  โดยการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรจะใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก  ในช่วงเวลาประมาณ คริสต์ศตวรรษที่ 5เริ่มมีการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา  โดยมีหลักสูตรในการสอนศาสตร์ต่างๆ  เช่น  การแพทย์  ศิลปะ  วรรณกรรม ศาสนา เป็นต้น  เมื่ออิทธิพลของศาสนาอิสลามเข้ามาในภูมิภาครูปแบบหลักสูตรจึงอิงตามรูปแบบหลักสูตรของอิสลามโดยควบคู่กับหลักสูตรแบบฮินดูดั้งเดิม  อย่างไรก็ตามหลักสูตรของภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองอนุทวีป  โดยอังกฤษนำหลักสูตรแบบตะวันตกเข้ามาใช้และกลายเป็นรากฐานของการพัฒนาหลักสูตรในระยะเวลาต่อมา
สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้น  ปรากฏหลักฐานของการศึกษาย้อนไปได้ถึงในสมัยราชวงศ์เซี่ย  อย่างไรก็ตามหลักสูตรในภูมิภาคนี้เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยหลักสูตรและการจัดการศึกษาในช่วงนี้จะได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื๊ออย่างชัดเจน  ซึ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนในทักษะพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการ[45] โดยอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อนั้นแทรกซึมอยู่ในหลักสูตรของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกอื่นๆทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลี  อย่างไรก็ตามเกิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรอีกครั้งในภูมิภาคนี้  โดยญี่ปุ่นเริ่มรับอิทธิพลหลักสูตรและการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19  ส่วนในประเทศจีนรับอิทธิพลทางการศึกษาและหลักสูตรแบบตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20
พัฒนาการของหลักสูตรในไทย
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะไม่มีการคิดค้นหรือบัญญัติคำว่าหลักสูตรไว้ใช้ในสมัยก่อน แต่พบลักษณะของหลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร โดยพัฒนาการของหลักสูตรไทยสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยอาณาจักรสุโขทัย โดยในสมัยสุโขทัยนั้นจะมีศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ทั้งสิ้น แห่ง แห่งแรกคือวัด ซึ่งให้การศึกษาแก่ลูกหลานขุนนางและสามัญชนผ่านการบวชเรียนและสำนักราชบัณฑิตซึ่งทำหน้าที่ในการสอนพระบรมวงศานุวงศ์ โดยวิชาที่จัดการเรียนการสอนในสมัยนั้นคือภาษาบาลีและภาษาไทย  ทั้งนี้เพื่อต่อยอดในการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในอนาคต  ดังนั้นหลักสูตรในสมัยนี้จะเน้นเนื้อหาสาระของพระธรรมวินัย  รวมไปถึงการปฏิบัติตนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย  สำหรับหลักสูตรของผู้หญิงจะปรากฏในรูปแบบของการศึกษานอกระบบเน้นการบ้านการเรือนเป็นหลัก  เมื่อถึงสมัยอยุธยาการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรลักษณะนี้ปรากฏเรื่อยมาจนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  โดยในสมัยนี้มีสำนักราชบัณฑิตเกิดขึ้นอย่างมากมาย  รวมไปถึงมีการแต่งแบบเรียนที่สำคัญมากแบบเรียนหนึ่งคือ "จินดามณีนอกจากนี้ยังพบว่ามีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น  ภาษาสันสกฤต  ภาษาลาว  ภาษาฝรั่งเศส  และภาษาจีนเป็นต้น  ดังนั้นหลักสูตรตั้งแต่สมัยนั้นจึงมีลักษณะการเน้นท่องจำจากแบบเรียนเป็นหลัก  ซึ่งการศึกษาในรูปแบบนี้มีอิทธิพลต่อเนื่องมาในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น  นอกจากการศึกษาในรูปแบบไทยจารีตแล้วยังพบการศึกษาตามหลักสูตรตะวันตกอีกด้วย  ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ส่งมหาดเล็กของพระองค์เข้าศึกษาตามหลักสูตรของฝรั่งเศสอีกด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น