ถ้าหลักสูตรได้รับการพิจารณาว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเกิดขึ้นในการวางแผนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาแล้ว การพัฒนาหลักสูตรก็จะเป็นการพัฒนาแผนเพื่อจัดโปรแกรมการศึกษา ซึ่งหมายถึงการให้นิยามและการเลือกจุดประสงค์ของการศึกษา เลือกประสบการณ์การเรียนรู้ และการประเมินโปรแกรมการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรเป็นงานปฏิบัติมิใช่งานทฤษฎี เป็นความพยายามที่จะออกแบบระบบ เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของการศึกษา และระบบนี้จะต้องเป็นประโยชน์ที่แท้จริงปรากฏต่อสังคมและต่อมนุษย์ ซึ่งมีความมุ่งหมาย มีความฝักใฝ่ในสิ่งที่ตนชอบ มีกลไกการเคลื่อนไหว ดังนั้น ขั้นตอนที่จำเป็นขั้นแรกในการพัฒนาหลักสูตร คือ การตรวจและวิเคราะห์สถานการณ์สำคัญๆ ซึ่งเป็นความมุ่งหมายปลายทางของการพัฒนาหลักสูตร คือ การเปลี่ยนแปลงของนักเรียนและครู ครูที่กลายเป็นผู้ที่มีความรู้มากขึ้น มีทักษะมากขึ้น และมีความไม่หยุดนิ่งมากขึ้น ครูซึ่งมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้จะเป็นผู้ที่ให้บริการแก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายละเอียดต่อไปนี้จะกล่าวถึงการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตร และแนวคิดการพัฒนาหลักสูตร
แดเนียล แทนเนอร์ และลอร์เรล แทนเนอร์ (D. Tanner & L. Tanner. 1995 : 385) กล่าวว่าปัจจัยและอิทธิพลหลักสูตรมีปฏิสัมพันธ์จากปรัชญาสังคม พฤติกรรมมนุษย์ และความรู้ที่ยิ่งใหญ่กว้างขวางสิ่งเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อผู้เรียนโดยแปรสภาพมาเป็นเนื้อหาวิชาสำหรับการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการพัฒนาคนในสังคมใหม่ ซึ่งเรียกว่ากระบวนการทัศน์ด้วยหลักสูตร
มาร์ช และวิลลิส (Marsh & Willis. 1995 : 278) ได้สรุปแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร ว่า กระบวนการพัฒนาหลักสูตรและการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแม้มีหลายแนวคิด แต่เมื่อสรุปรวมความคิดแล้วล้วนอยู่บนพื้นฐานความต่อเนื่องเป็นอนุกรมโดยเริ่มจากแรงกดดันและผลกระทบจากปัจจัยบริบทและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสู่การปรับปรุงหลักสูตร การนำหลักสูตรไปสู่สถาบันเพื่อใช้จะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหลักสูตรขึ้นมาอีกในระยะต่อไปต่อเนื่องดังภาพประกอบ 2
ในการวางแผนพัฒนาหลักสูตร เพื่อดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรมีแรงผลักดันและปัจจัยอิทธิพลหลายระดับตั้งแต่ระดับโรงเรียน ระดับชุมชนครอบครัว สังคมประเทศชาติจนถึงระดับนานาชาติ พลังผลักดันของสังคมเป็นตัวเร่งสำคัญในการวางแผนหลักสูตร (Parkay W.and Glen Hass, 2000 : 275)
องค์ประกอบในการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วยคณะกรรมการดำเนินงานจัดทำหลักสูตรศึกษาวิเคราะห์สภาพของสังคมในปัจจุบัน พร้อมทั้งวิเคราะห์หลักสูตรเดิมเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาร่วมกับข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ในการพัฒนาหลักสูตร ปรับปรุงแก้ไข แล้วกำหนดจุดประสงค์ใหม่ องค์ประกอบในแต่ล่ะส่วนจะมีความสัมพันธ์กันและเท่าเทียมกัน จะขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไม่ได้ ได้แก่
1. การกำหนดความมุ่งหมายจะต้องชัดเจนว่าต้องให้ผู้เรียนในระดับนั้นๆ มีคุณสมบัติอย่างไร เมื่อกำหนดความมุ่งหมายแล้วจะได้ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเนื้อหาวิชาและประสบการณ์ในการเรียนรู้ต่อไป
2. การวางแผนกำหนดโครงสร้างของหลักสูตร และการเลือกเนื้อหาวิชา ในหลักสูตรจะต้องกำหนดโครงสร้างอะไรบ้าง เช่น จะต้องใช้เวลาศึกษานานเท่าไร จะต้องเรียนทั้งหมดกี่หน่วยการเรียนจึงจะจบหลักสูตรได้ จะต้องเข้าเรียนกี่คาบต่อสัปดาห์ต่อภาคเรียนมีการวัดและประเมินผลอย่างไร ระบบการให้คะแนนเป็นอย่างไร มีวิชาใดบ้างที่จะต้องเรียนบังคับเท่าไร และเลือกเท่าไร และวิชาเหล่านั้นประกอบไปด้วยเนื้อหาอะไรมีประสบการณ์อะไรบ้าง
3. การทดลองใช้หลักสูตรหรือกระบวนการเรียนการสอนหรือวิธีการ และการจัดการเกี่ยวกับหลักสูตรเพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปตามความมุ่งหมายของหลักสูตรอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องจัดหาและปรับปรุงกระบวนการสอน การจัดชั้นเรียน การใช้อุปกรณ์การวัดผลและประเมินผล และการจัดกิจกรรมเสริมทางวิชาการ ตลอดจนการสอนซ่อมเสริมให้การนำหลักสูตรไปใช้เกิดประโยชน์สูงสุด
4. การประเมินผลหลักสูตร เป็นการประเมินคุณค่าของหลักสูตรว่ามีคุณภาพเป็นอย่างไร เป็นกระบวนการที่ใช้พิจารณาว่าความมุ่งหมายเป็นอย่างไร เนื้อหาวิชาและประสบการณ์ตรงกับความมุ่งหมายหรือไม่ การเรียนการสอนมีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างและการประเมินผลอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น