9 พ.ย. 2561

ระยะของการประเมินหลักสูตร

                การประเมินหลักสูตรควรมีการดำเนินเป็นระยะๆ ทั้งนี้เนื่องจากข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของหลักสูตรอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยและในระยะต่างกันเช่นอาจมีสาเหตุมาจากตอนจัดทำหรือ  ยกร่างหลักสูตรซึ่งทำให้ตัวหลักสูตรไม่มีคุณภาพที่ดีหรือไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหรืออาจมีสาเหตุมาจากตอนนำหลักสูตรไปใช้เป็นต้นการประเมินหลักสูตรที่ดีจึงต้องตรวจสอบเป็นระยะเพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยทั่วไปจะแบ่งเป็นระยะคือ
              ระยะที่ 1 การประเมินหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้ (Project Analysis)
              ในช่วงระหว่างที่มีการสร้างหรือพัฒนาหลักสูตรอาจมีการดำเนินการตรวจสอบทุกขั้นตอนของการจัดทำนับแต่การกำหนดจุดมุ่งหมายไปจนถึงการกำหนดการวัดและประเมินผลการเรียนซึ่งสามารถทำได้ 2 ลักษณะคือ
              1. ประเมินหลักสูตรเมื่อสร้างหลักสูตรฉบับร่างเสร็จแล้วก่อนจะนำหลักสูตรไปใช้จริงควรมีการประเมินตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรฉบับร่างและองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตรการประเมินหลักสูตรในระยะนี้ต้องอาศัยความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาหลักสูตรทางด้านวิชาชีพครูทางด้านการวัดผลหรือจะให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์หรือพิจารณาก็ได้
              2. ประเมินผลในขั้นตอนทดลองใช้เพื่อปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ขาดตกบกพร่องหรือเป็นปัญหาให้มีความสมบูรณ์เพื่อประสิทธิภาพในการนำไปใช้ต่อไปเช่นหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 มีการทดลองใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 และ 2520 เพื่อหาข้อบกพร่องอุปสรรคจะได้แก้ไขให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป
              ระยะที่ 2 การประเมินหลักสูตรระหว่างการดำเนินการใช้หลักสูตร (Formative Evaluation)
              ในขณะที่มีการดำเนินการใช้หลักสูตรที่จัดทำขึ้นควรมีการประเมินเพื่อตรวจสอบว่าหลักสูตรสามารถนำไปใช้ได้ดีเพียงใดหรือบกพร่องในจุดไหนจะได้แก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมเช่นประเมินกระบวนการใช้หลักสูตรในด้านการบริหารการจัดการหลักสูตรการนิเทศกำกับดูแลและการจัดกระบวนการเรียนการสอน
              ระยะที่ 3 การประเมินหลักสูตรหลังการใช้หลักสูตร (Summative Evaluation)
              หลังจากที่มีการใช้หลักสูตรมาแล้วระยะหนึ่งคือครบกระบวนการเรียบร้อยแล้วควรจะประเมินหลักสูตรทั้งระบบซึ่งได้แก่การประเมินองค์ประกอบด้านต่างๆ ของหลักสูตรทั้งหมดคือเอกสารหลักสูตรวัสดุหลักสูตรบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรการบริหารหลักสูตรการนิเทศกำกับติดตามการจัดกระบวนการเรียนการสอน ฯลฯ เพื่อสรุปผลตัดสินว่าหลักสูตรที่จัดทำขึ้นนั้นควรจะดำเนินการใช้ต่อไปหรือควรปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นหรือควรจะยกเลิกเช่นหลักสูตรประถมศึกษาพุทธศักราช 2521 มีช่วงระยะการใช้งาน 6 ปีเมื่อครบ 6 ปีแล้วจะมีการประเมินผลหลักสูตรรวบยอดทั้งหมดโดยนำข้อมูลตั้งแต่ระยะที่ 1 จนถึงระยะที่ 2 มารวบรวมวิเคราะห์และประเมินคุณค่าทั้งนี้อาจจะต้องอาศัยข้อมูลที่สำคัญอีกบางข้อมูลเช่นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนซึ่งได้แก่การนำไปใช้ในการดำรงชีวิตการประกอบอาชีพเข้ามาประกอบการวิเคราะห์และประเมินค่าด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น